20 ตุลาคม 2552

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 5)


การที่คนเราหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ (จริงๆ) กันน้อยลง แล้วหันไปทานเนื้อสัตว์ปลูก (in vitro meat) แทนในอนาคต นอกจากจะเป็นเรื่องดีในแง่ของความเป็นสัตว์ประเสริฐของมนุษย์เรา ที่จะได้เผื่อแผ่ความเมตตากรุณาให้แก่สัตว์อื่น จริงๆ แล้ว การบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง นอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของเราแล้ว มันยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของโลกด้วยครับ

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า วัวตัวเต็มวัยตัวหนึ่ง ผายลมเอาก๊าซมีเธนออกมาปีละ 180 กิโลกรัม ซึ่งก๊าซมีเธนนี้เป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลกได้ดีกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า การผลิตเนื้อวัวนั้นทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเต้าหู้ ซึ่งเป็นอาหารหลักของนักมังสวิรัติแล้ว มันใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าเป็น 17 เท่า ใช้น้ำมากกว่า 26 เท่า ใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 20 เท่า แถมยังใช้สารเคมีมากกว่าอีก 6 เท่า จากรายงานขององค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN's FAO) พบว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งหมด 18% ซึ่งมากกว่ารถยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน รวมกันเสียอีก ดังนั้น เพียงแค่เราเปลี่ยนจากทานเนื้อ 1 กิโลกรัม มาเป็นเต้าหู้ 1 กิโลกรัม เราจะช่วยโลกนี้ได้มากแค่ไหน

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ลองชั่งใจดูนะครับระหว่างการกินเนื้อวัว เนื้อหมู หรือ เนื้อไก่ อะไรจะดีกว่ากันสำหรับโลกใบนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้วิจัยพบว่า การผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัมนั้นใช้พื้นที่มากกว่าการผลิตเนื้อไก่ถึง 7 เท่า และมากกว่าเนื้อหมู 15 เท่า ดังนั้นผู้ที่ถือสัตยาธิษฐานกับพระโพธิสัตว์กวนอิม ว่าจะไม่รับประทานเนื้อวัว จึงถือเป็นการลดโลกร้อนอย่างอัตโนมัติครับ ........