17 ตุลาคม 2552

Chembot - หุ่นยนต์เปลี่ยนรูปได้ (ตอนที่ 3)


หายไป 2-3 วันครับ ผมมาเข้าร่วมประชุมซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ชะอำ ซึ่งเขาจัดระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2552 วันนี้ก็จะกลับกรุงเทพฯ แล้วครับ นานๆ เปลี่ยนบรรยากาศมาทะเลสักทีหนึ่ง ปกติผมจะชอบไปทำงานอยู่ที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ มาเปลี่ยนบรรยากาศบ้างครับ ทำให้จินตนาการของเราไม่หยุดอยู่นิ่ง มางานประชุมนี้ก็ค่อนข้างมีประโยชน์มากครับ เพราะทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่นักวิจัยบ้านเราเขาทำอะไรกันบ้าง ไปเดินดูโปสเตอร์ที่แสดงผลงานก็น่าสนุก ผมเสียดายอยู่นิดเดียวครับ ที่คนที่เดินดูผลงานเหล่านั้นก็เป็นนักวิจัยด้วยกันเอง ไม่มีคนจากเอกชนหรือนักลงทุนมาเดินดู เพราะการประชุมนี้เป็นการประชุมของนักวิจัยกันเอง จริงๆ ผมชอบการประชุมวิชาการที่จัดร่วมกับนิทรรศการหรือ Trade Fair มากกว่า เพราะจะมีงานวิจัยส่วนหนึ่ง ที่มีศักยภาพนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งคนที่จะนำไปใช้จะมีโอกาสได้มาเห็น ซึ่งผมว่าคนเหล่านั้น (เอกชน) เขาก็อยากมาดูนะครับ ......

วันนี้ผมมีความก้าวหน้าในศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์เปลี่ยนรูปร่างได้ (Shape-Shifting Robot) หรือ Chembot มาเล่าครับ หากยังจำได้ ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าให้ฟังว่าทาง DARPA ได้ให้ทุนบริษัท iRobot ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่น Roomba อันโด่งดัง เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบที่มีความยืดหยุ่นได้ทั้ง 3 มิติ มีความสามารถในการแตกตัวออก และประกอบรวมเข้าใหม่ได้ สามารถทำงานได้ทั้งในโหมดอัตโนมัติ และควบคุมจากระยะไกลมีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิ ความดัน ความชื้น และรังสี มีผิวที่อ่อนนุ่ม ทนทานต่อแรงกดโดยไม่แตก มีโครงสร้างที่สามารถประกอบกลับมาอยู่ในรูปร่างตั้งต้นได้- มีประสาทสัมผัสทางกาย (Tactile Sensing) มีความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักได้

ในการประชุมทางด้านหุ่นยนต์ศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท iRobot ได้นำต้นแบบรุ่นแรกของหุ่นยนต์ที่เปลี่ยนรูปได้ (ดังแสดงในภาพ) ออกมาโชว์ตัว เจ้าหุ่นตัวนี้มีรูปร่างเหมือนโดนัท มันสามารถพอง ยุบ หุบ ยืด ได้ ซึ่งผู้ออกแบบจงใจจะให้มันมีความสามารถในการแทรกตัวผ่านรอยแยก รอยแตก ของโครงสร้างต่างๆ เพื่อเข้าไปปฏิบัติการได้


ความสนใจในเรื่องของหุ่นยนต์ที่นุ่มนิ่ม ยืดหยุ่น เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ผมจะนำความก้าวหน้าทางด้านนี้มาเล่าให้ฟังอีกครับ .......