25 ตุลาคม 2552

Science of Meme - ศาสตร์แห่งการเอาอย่างกัน (ตอนที่ 1)


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบจะทำอะไรตามกระแส หรือทำอะไรตามคนอื่น แต่ทนถูกรบเร้าจากภรรยาไม่ไหวก็เลยต้องเดินทางไปเที่ยวที่ ปาย อำเภอเล็กๆ ของแม่ฮ่องสอน ที่กำลังกลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมกลางหุบเขา ที่ใครๆ ต่างพูดถึงกันมากใน พ.ศ. นี้ครับ ผมต้องยอมรับว่า ปายมีเสน่ห์ที่ชวนหลงใหลจริงๆ เป็นอำเภอที่น่ารักและโรแมนติกมากครับ ช่วงที่ผมกำลังจะเดินทางกลับลงจากเขาเพื่อกลับมาพักที่เชียงใหม่ เป็นช่วงวันหยุดยาว ผมได้เห็นรถยนต์วิ่งสวนทางขึ้นมา จนเส้นทางที่เคยเงียบสงบในอดีต หนาแน่นไปด้วยรถยนต์ ใครๆ ก็อยากไปปาย ......

หลายวันที่ผมอยู่ที่ปาย ผมได้เจอคนที่มาเดินทางตามหาฝัน ส่วนมากเป็นวัยหนุ่มสาว ของที่ระลึกต่างๆ ที่มีขายกัน ไม่ว่าจะตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรือที่ "ถนนคนเดิน" เองก็ตาม ก็มีแต่สิ่งของที่สื่อถึงความเป็นปาย ที่ใครๆ ก็อยากจะมาค้นหา คำพูดน่ารักๆ ที่เพ้นท์อยู่บนเสื้อยืดบอกอะไรได้ดีที่สุด เช่น "กว่าจะถึงปาย อ๊วกตลอดทาง" หรือ "รักแรกที่ปาย" หรือ "ไปปายมาแล้ว" หรือ "ปายที่คิดถึง" และอีกมากมาย

ช่วงที่อยู่ที่ปาย เวลาของผมเกือบจะถูกกลืนหายไปเลยครับ บรรยากาศที่นั่นทำให้ผมเพลินจนเกือบลืมคิดถึงบ้าน แต่ผมก็ตั้งคำถามนะว่า "ตกลง .... ปายมีความเป็นตัวตนจริงๆ ที่ทำให้ใครๆ ที่มาที่ปาย เกิดหลงมิติ ติดกับมนตร์เสน่ห์ของที่นี่" หรือ จริงๆ แล้ว ปายไม่มีอะไรอย่างว่าหรอก แต่คนที่มาที่ปายต่างหาก ที่มาสร้างอารมณ์ร่วมกัน มาสร้างอุปาทาน สร้างตัวตนของปายร่วมกัน ก่อนหน้านี้ปายก็ไม่มีอะไรหรอก ก็เหมือนที่อื่นๆ ที่มีความสวยงามของทิวทัศน์เหมือนกัน ผมเคยไปพะเยาว์ ที่นั่นก็มีความสวยงามไม่แพ้กัน แต่พอเป็นปาย ทำไมอารมณ์มันถึงต่าง ???

จริงๆแล้ว คำถามที่ผมตั้งขึ้นมาว่า ทำไมคนเราถึงคลั่งไคล้ในสิ่งต่างๆ เหมือนกับที่ใครๆก็อยากไปปาย นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามค้นหาคำตอบเรื่องนี้มานานแล้วครับ ตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อนะครับว่า การที่คนเราทำอะไรตามกัน เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ให้เหตุผลได้ครับ .....

(ภาพบน - บรรยากาศร้าน Coffee in Love ที่ปาย)