03 กรกฎาคม 2552

Ecological Robot - หุ่นยนต์หากินเอง (ตอนที่ 2)


วันนี้ ผมจะยกตัวอย่างของหุ่นยนต์หากินเอง ซึ่ง Bristol Robotics Laboratory ซึ่งเป็นต้นตำหรับของหุ่นยนต์กินแมลงเป็นอาหาร ซึ่งทางห้องปฏิบัติการนี้ได้ออกหุ่นยนต์ที่เรียกว่า EcoBot นี้มาถึง 2 รุ่นแล้วคือ EcoBot I และ EcoBot II และตอนนี้ก็กำลังออกแบบรุ่นที่ 3 คือ Ecobot III ซึ่งตอนนี้ทางทีมวิจัยเก็บเรื่องนี้อย่างเงียบ หาข้อมูลได้ยากมากครับ

เจ้าหุ่น EcoBot II ซึ่งมีข้อมูลเปิดเผยได้แล้วนี้ เป็นผลงานของนักศึกษาปริญญาเอก ที่มีชื่อว่า Loannis Leropoulos หุ่นยนต์ตัวนี้มีเซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพติดเป็นแผงอยู่บนร่างกาย มันสามารถกินแมลงได้ทั้งตัว เมื่อมันมีพลังงาน มันจะเดินด้วยความเร็ว 8-16 เซ็นติเมตรต่อชั่วโมง เข้าหาบริเวณที่มีความเข้มแสง แมลงวัน 8 ตัวทำให้มันอิ่มได้ 12 วัน ถึงแม้ EcoBot II จะเดินได้อืดอาด แถมก็ยังไม่ได้มีความฉลาดอะไร แต่มันก็เป็นหุ่นยนต์ตัวแรกในโลก ที่สามารถหาอาหารกินเอง รับรู้สิ่งเร้า (ถึงแม้จะมีแค่สัมผัสง่ายๆ เรื่องแสง) ประมวลผลและตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น แถมมันยังสามารถสื่อสารได้ (ด้วยการส่งข้อมูลแบบไร้สายกลับมาที่คอมพิวเตอร์แม่) ซึ่งก็ถูกครับ เพราะเจ้าหุ่นตัวนี้ถือเป็นการวางหลักไมล์แรกๆ ของศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์ที่พึ่งพาตัวเองได้ในเรื่องพลังงาน

Chris Melhuish หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัย Bristol Robotics Laboratory หวังว่าในอนาคต หุ่นยนต์ประเภทนี้จะถูกใช้ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย เช่น เราสามารถปล่อยหุ่นยนต์เข้าไปในสนามรบ ในดงทุ่นระเบิดที่มีข้าศึกหนาแน่น ไม่อยากให้ทหารตัวเป็นๆ เข้าไป หุ่นยนต์จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยอาศัยพลังงานจากชีวะอินทรีย์ ทั้งแมลง หนอน ซากพืช ซากสัตว์ เพื่อที่จะนำพลังงานทุกเม็ดทุกหน่วยมาปฏิบัติการรบ
(ภาพบน - หน้าตาของ Microbial Fuel Cell ที่เปลี่ยนแมลงให้เป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับหุ่นยนต์)