29 กรกฎาคม 2552

Collective Intelligence - ปัญญาสะสม


หายไปหลายวันนะครับ ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ผมเจอประชุมแบบทั้งวันไปหลายวัน หมดเรี่ยวหมดแรงเลยครับ ระหว่างนั่งประชุมเนี่ย ผมใจลอยเผลอคิดไปว่าอะไรที่ทำให้พวกเราต้องมานั่งประชุมกัน ผมนั่งนึกไปถึงการประชุมอื่นๆ หลายๆแห่ง ที่ผมเคยไปนั่งประชุม แล้วก็นั่งคิดว่าทำไมคนเราถึงประชุมกันมากมายจังเลย แล้วมันคุ้มมั้ยเนี่ย เหตุผลหนึ่งที่ผมคิดได้ว่าทำไมพวกเราต้องมานั่งประชุมกันก็คือ พวกเราอยากได้ "ปัญญา" เพื่อนำไปใช้แก้ "ปัญหา" โดยต้องการใช้ที่ประชุมนั่นแหละ เพื่อสังเคราห์ "ปัญญาของกลุ่ม" หรือที่เขาเรียกว่า The Wisdom of Crowds ให้ได้ออกมา

แต่หลายๆ ครั้งที่ผมไปนั่งประชุม ผมกลับพบว่า ข้อสรุปของที่ประชุมมักจะออกมาจากความคิดของคนเพียงคนเดียวครับ ซึ่งเป็นคนที่เสียงดังที่สุด หรือ บางทีก็พูดมากที่สุด หรือบางทีก็เป็นที่เกรงอกเกรงใจที่สุด หรือ บางทีก็เป็นคนที่เกเรที่สุด หรือ บางทีก็เป็นคนที่พูดออกมาแล้วฟังดูดีที่สุด สรุปก็คือ การประชุมส่วนใหญ่นั้น มันไม่ได้ "ปัญญาของกลุ่ม" อย่างที่เราต้องการเลยครับ

แต่สำหรับสังคมของมด มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยครับ มดแต่ละตัวนั้นเป็นสัตว์ที่ไม่ฉลาดเท่าไหร่ ความคิดของมันก็ง่ายๆ แต่เมื่อมันมารวมกันเป็นฝูงแล้ว มันกลับสามารถทำอะไรที่ซับซ้อนเป็นทวีคูณ ถึงขนาดที่ว่า "ปัญญาของกลุ่ม" ของมดนั้นเหนือกว่าของมนุษย์มากเลยครับ ประสิทธิภาพการรวมหัวของมนุษย์นั้น สู้มดไม่ได้เลย

ศาสตราจารย์ สตีเฟน แพรต แห่งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอริโซน่า (Arizona State University) ผู้คร่ำหวอดในงานวิจัยทางด้านการพฤติกรรมสัตว์สังคมทั้งหลาย กล่าวว่า "สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของเรื่องนี้ก็คือ มดแต่ละตัวรู้จักเพียงทางเลือกน้อยอย่าง ซึ่งเมื่อมดแต่ละตัวมาปฏิสัมพันธ์แบบหลวมๆ ก็สามารถเกิดโครงสร้างทางการตัดสินใจของกลุ่มขึ้นมา ซึ่งจะดูเป็นเหตุเป็นผล เพราะโครงสร้างนั้น มีฐานสนับสนุนที่แน่นอน" ไม่เหมือนการตัดสินใจของคน ที่มีทางออกหลายทางเลือก และไม่มีโครงสร้างที่คงที่ การระดมสมองหลายๆครั้งที่ผมเห็น เริ่มต้นได้ดี แต่มักจะมาจบกับการมั่วของคนเพียงคนเดียว

อาจารย์แพรตบอกว่า การที่มดตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลมากกว่าคน ไม่ได้แปลว่าคนโง่กว่ามด แต่เป็นเพราะการที่มดแต่ละตัวมีทางเลือกไม่กี่อย่าง ปัญญาสะสมที่เกิดจากการนำทางเลือกนั้นมารวมกัน จึงวางอยู่บนฐานที่แน่นอน โอกาสเกิดความผิดพลาดในห่วงโซ่ของการตัดสินใจจะน้อยลง สัตว์อย่างมดมีการเรียงลำดับของทางเลือกที่แน่นอน ในเรื่องของ แหล่งอาหาร การหาคู่ ตำแหน่งถิ่นที่อยู่ ขนาดของรัง ก่อนหน้านี้อาจารย์แพรตได้ศึกษาการเลือกรังของมด ซึ่งท่านพบว่า การเลือกรังของมด เป็นการตัดสินใจที่เป็น "ปัญญาสะสม" มดจะมีสายสืบออกไปทำการค้นหาตำแหน่งรังใหม่ โดยมันจะนับจำนวนมดที่มาชุมนุมอยู่ตรงตำแหน่งของรังใหม่ ที่ไหนมีมดมากที่สุด มันก็จะเอาตรงนั้น

ตอนนี้อาจารย์แพรตได้รับทุนจากกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อที่จะทำการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับใช้งานกับฝูงหุ่นยนต์ โดยทางกองทัพต้องการพัฒนาอาวุธที่สามารถทำงานได้ในสนามรบ หากการควบคุมส่วนกลางถูกทำลาย อาวุธที่เหลือต้องสามารถทำงานต่อโดยไร้การบังคับบัญชาได้