11 กรกฎาคม 2552

Emotional Robot - หุ่นยนต์เจ้าอารมณ์ (ตอนที่ 2)


ช่วงนี้ผมมาทำงานภาคสนามที่ ไร่องุ่นกราน-มอนเต้ ครับ เลยหายไปหลายวัน วันนี้พอมีเวลาว่างมาคุยบ้างครับ

เรื่องของหุ่นยนต์ที่แสดงอารมณ์ หรือ สื่ออารมณ์ กับมนุษย์ได้ ผมเคยเขียนถึงไปก่อนหน้านี้นานแล้วครับ พอดีตอนนี้มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ ก็เลยขอนำมาบอกเล่าเสียหน่อย เมื่อต้นเดือนมิถุยายนที่ผ่านมานี้เอง ได้มีงานประชุมวิชาการหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งจัดขึ้น ณ นครเซี่ยงไฮ้ งานประชุมนี้มีชื่อว่า 2009 IEEE 8th International Conference on Development and Learning ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การทำให้จักรกลมีการเรียนรู้ เพื่อที่จะทำให้จักรกลสามารถที่จะมีภาวะทางอารมณ์ ความคิด คล้ายๆกับการมี "จิตใจ" ซึ่งจะเป็นการทำให้สิ่งมีชีวิตกับจักรกล มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อกันมากขึ้น ความก้าวหน้าในศาสตร์ด้านนี้จะมีประโยชน์มหาศาล เพราะจะทำให้จักรกลมีความฉลาดมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มสมรรถนะของมนุษย์ เพราะมันจะช่วยให้จักรกลเข้าไปเสริม หรือ อยู่ในร่างกายของมนุษย์ได้

ในงานประชุมนี้เอง ได้มีการเสนอผลงานที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่แสดงอารมณ์ได้ เป็นผลงานของ Machine Perception Laboratory แห่ง University of California San Diego หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม UCSD ผลงานนี้ มีความเจ๋งตรงที่ว่า หุ่นยนต์ตัวนี้สามารถที่จะเรียนรู้การแสดงออกทางหน้าตาได้ ใบหน้าที่คล้ายไอน์สไตน์ของหุ่นยนต์ตัวนี้ มีกล้ามเนื้อเทียมอยู่ 31 ชิ้น ซึ่งสามารถที่จะยืดหด เพื่อให้รูปหน้าเปลี่ยนแปลงไปได้ คณะวิจัยได้ให้หุ่นยนต์หันมองกระจก จากนั้น ให้หุ่นยนต์ขยับกล้ามเนื้อใบหน้าอย่างสุ่มๆ เมื่อไรก็ตามที่ใบหน้านั้นไปสัมพันธ์กับลักษณะอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง หุ่นยนต์จะเก็บข้อมูลกล้ามเนื้อนั้นในหน่วยความจำ แล้วก็สุ่มทำไปเรื่อยๆ จนหุ่นยนต์สามารถเรียนรู้ได้ว่า หากจะแสดงอารมณ์แบบไหน ต้องขยับกล้ามเนื้อส่วนใด เป็นปริมาณเท่าไร การศึกษากระบวนการขยับใบหน้าของหุ่นยนต์ จะช่วยพัฒนาความเข้าใจในเรื่องที่ว่า เด็กเบบี้เรียนรู้ที่จะทำหน้าทำตาเพื่อสื่ออารมณ์ได้อย่างไรด้วย คณะวิจัยตั้งใจว่าจะนำหุ่นยนต์แสดงอารมณ์ตัวนี้ไปใช้สำหรับเป็นหุ่นยนต์พี่เลี้ยงเด็กในอนาคต