21 กันยายน 2555

Monsoon and the Future of Thailand - มรสุมกับอนาคตของไทย (ตอนที่ 2)



ช่วงนี้คนไทยส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกเป็นทุกข์และกังวลใจ กับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ที่ประเทศของเราประสบอยู่ ก่อนหน้านี้เพียงเดือนกว่าๆ ประเทศของเราประสบกับภาวะฝนแล้ง น้ำในเขื่อนใหญ่ๆ มีปริมาณน้ำในระดับที่ต่ำจนอาจไม่มีใช้ในช่วงหน้าแล้ง ทว่าหลังจากนั้นสัปดาห์เดียว ประเทศไทยต้องประสบภาวะอุทกภัยเป็นลูกโซ่ ไล่มาจากจังหวัดทางภาคเหนือ ลงมาเรื่อยๆ จนตอนนี้คนกรุงเทพฯ จำนวนมากนอนกันไม่หลับเลย กับภาวะที่ว่าไม่รู้จะต้องขนของหนีน้ำกันอีกไหม

ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นหรอกครับที่วิถีชีวิตกำลังตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของสภาวะอากาศ เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งของคนประมาณ 2,000 ล้านกว่าคน ที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้อิทธิพลของระบบมรสุมเอเชียใต้ ซึ่งเป็นระบบอากาศที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในโลก และครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์มากที่สุดในโลก ความเข้าใจในระบบมรสุม จะทำให้เราใช้ชีวิตที่รับมือกับความแปรปรวนได้มากขึ้น

อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลยครับที่สับสนกับความแปรปรวนของมรสุม นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังปวดหัวยิ่งกว่าอีกครับ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบอย่างไรกับระบบมรสุมของเรา ในวารสาร Nature Climate Change  ซึ่งทำการทบทวนบทความวิจัยอื่นๆ อีกประมาณ 100 รายการ ที่เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อระบบมรสุม โมเดลส่วนใหญ่ให้ผลการศึกษาออกมาว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ระบบมรสุมมีความเข้มข้นขึ้น นั่นคือฝนจะตกมากขึ้นในเอเชียใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย แต่ข้อมูลที่ผ่านมาตลอด 60 ปีกลับพบว่าจำนวนฝนตกในประเทศอินเดียกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่าน โลกเราได้ร้อนขึ้นไป 0.5 องศาเซลเซียสแล้ว

ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยได้พบกับภาวะฝนแล้งในช่วงฤดูเพาะปลูก ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตรเป็นมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท แต่ถัดมาอีก 1 ปี ในปี พ.ศ. 2554 เรากลับต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท  มาคราวนี้ในปี ค.ศ. 2012 ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะฝนแล้ง และ อุทกภัย ในปีเดียวกัน แถมห่างกันไม่ถึงเดือน

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ภาวะโลกร้อนน่าจะช่วยทำให้มรสุมมีความเข้มข้นมากกว่าที่จะทำให้มันอ่อนแรงลง นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนในย่านนี้ควรจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย เพราะการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศา เท่ากับจะมีปริมาณไอน้ำในอากาศที่เพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ มีการประมาณกันว่าประมาณปี ค.ศ. 2050 โลกเราจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 2 องศา ซึ่งจะทำให้ฝนจะตกมากกว่าเดิมโดยเฉลี่ย 8-10 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม จำนวนวันที่ฝนตกในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน - กันยายน) กลับจะลดลง เช่นในอินเดีย จะมีจำนวนวันที่ฝนตกประมาณ 60 วัน แต่ในอนาคตจะเหลือเพียง 40-50 วันเท่านั้น .... หมายความว่าอย่างไรครับ ... ก็หมายความว่า วันไหนที่ฝนตก ฝนจะตกหนักกว่าปกติ ซึ่งทำให้เรามีโอกาสเจอทั้งภัยแล้ง และ น้ำท่วม สลับกันง่ายขึ้น

น่าปวดหัวมั้ยครับ วันที่ฝนตกจะน้อยลง แต่ฝนจะตกหนักขึ้น ... แค่นี้ยังไม่พอนะครับ บริเวณที่ฝนตกชุกก็จะเปลี่ยนที่ด้วย หมายความว่าที่ๆ แต่ก่อนไม่ค่อยมีฝน หรือ ฝนแล้ง ต่อไปอาจจะกลายเป็นพื้นที่สีเขียว เช่น นักวิทยาศาสตร์พบว่า ฝนเริ่มตกมากขึ้นในมองโกเลีย ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีทะเลทรายเป็นบริเวณกว้าง แต่ในอนาคต มองโกเลีย อาจจะกลายมาเป็นประเทศเกษตรที่ผลิตอาหารได้เอง ในขณะที่ประเทศที่เคยมีฝนตกชุกอย่างเช่น อินเดีย ฝนกลับจะตกน้อยลง ทำให้การผลิตอาหารไม่เพียงพอในอนาคต  ในประเทศไทยเองก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้แน่นอนครับ ดังนั้น พวกเราควรจะเตรียมตัวเตรียมใจ ยอมรับที่จะปรับตัวและอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้หล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น