09 กันยายน 2555

Body Electronics - อิเล็กทรอนิกส์บนผิวกายมนุษย์ (ตอนที่ 5)



วิวัฒนาการของเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้ก้าวหน้าไปมาก ตอนผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เครื่องคอมพิวเตอร์ที่จุฬาฯ มีขนาดใหญ่กว่าห้องนั่งเล่นที่บ้านอีกครับ พอผมขึ้นปี 2 เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) ก็ออกมา ราคาประมาณ 200,000 บาท พอผมจบปริญญาเอก มาใช้คอมพิวเตอร์แบบ Laptop เครื่องแรกในชีวิตราคาเป็นแสน แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ก็วิวัฒนาการมาเป็น notebook มาเป็น netbook มาเป็น Tablet เมื่อก่อนนี้ การจะได้เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์สักเครื่องเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ปัจจุบันในบ้านผมเอง มีเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ มากกว่า 10 เครื่อง ไม่นับสมาร์ทโฟน ซึ่งหากจะถือว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งก็ย่อมได้

แนวโน้มสำคัญอันหนึ่งของอิเล็กทรอนิกส์ก็คือ มันพยายามจะติดตามเราไปทุกที่ เครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop มันตามเราไปไหนมาไหนไม่ได้ ก็เลยต้องมีเครื่อง Laptop ซึ่งในภายหลัง มันก็มารู้ตัวว่ามันใหญ่เกินไปที่จะตามเราไปไหนมาไหนได้สะดวก มันจึงต้องออกลูกมาเป็นเครื่อง notebook ซึ่งตามเราไปไหนสะดวกขึ้นหน่อย โดยมันก็พัฒนามาเป็นเวอร์ชันที่เบามากขึ้นไปอีกในชื่อว่า netbook แต่ในภายหลัง มันก็เพิ่งรู้ตัวว่ามันยังมีขนาดใหญ่เกินไปที่จะติดตามเราไปนั่งชิล ๆ ตามร้านกาแฟ บรรยากาศดีๆ มันก็เลยถูกแทนที่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Tablet

แต่อีกไม่นานหรอกครับ หลังจากเด็ก ป.1 ได้มีโอกาสใช้ Table กันหมดแล้ว พวกเราจะเริ่มรู้สึกว่า Tablet ก็ยังเป็นอะไรที่เทอะทะ พกไปพกมาไม่สะดวก ดังนั้นก้าวต่อไปของคอมพิวเตอร์จะเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Computer) ซึ่งจะทำให้เรามีพลังในการประมวลผลแบบเคลื่อนที่ ที่คล่องตัวและสะดวกสบายขึ้นไปอีก สิ่งที่เราสวมใส่ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นแว่นตา รองเท้า เสื้อผ้า จะมีคอมพิวเตอร์ฝังตัวอยู่

ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องที่กูเกิ้ลกำลังจะทำแว่นตาที่มีจอแสดงผลอยู่บนแว่น ซึ่งเมื่อเราสวมใส่แว่นตานี้แล้ว จะทำให้เสมือนเรามีจอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงหน้า โครงการนี้มีชื่อว่า Google Glass ซึ่งได้ยินมาว่ากูเกิ้ลจะปล่อยแว่นตาแสดงผลนี้ออกมาให้นักพัฒนา App ได้เล่นกันประมาณต้นปี แล้วหลังจากนั้นก็จะปล่อยออกมาให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ซื้อมาใช้ ด้วยสนนราคาประมาณพอๆ กับสมาร์ทโฟนหล่ะครับ เจ้า Google Glass นี้จะทำให้เรามีคอมพิวเตอร์พกพาอยู่ที่แว่นของเราเลย เบื้องต้นที่ผมทราบคือ เราจะควบคุมการทำงานของแว่นตาซึ่งรันอยู่บนระบบปฏิบัติการ android ผ่านทางเสียง และสมาร์ทโฟน แต่ผมเชื่อว่า ในอนาคตเราสามารถควบคุมแว่นตาโดยการใช้ท่าทางของดวงตา (Eye Gesture) เช่น การกรอกลูกตาไปมา การหยีตา หลี่ตา ทำตาซึ้ง ทำตาดุ กระพริบตา โดยแว่นจะต้องจดจำท่าทางเหล่านั้น แล้วแปลความหมายเป็นคำสั่ง เช่น สั่งให้ถ่ายวีดิโอ สั่งให้เปิด App สั่งให้ค้นหาข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

และเมื่อใดก็ตาม ที่เรารู้สึกว่าการสวมใส่คอมพิวเตอร์นั้นยังไม่สะดวกพอ ยุคต่อไปเราก็คงจะต้องการให้คอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เพื่อที่เราจะได้ไปไหนมาไหนกับมันได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้เวลาอาบน้ำ .....


** โครงการ Wearable Intelligence มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติ **



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ14 กันยายน 2555 เวลา 20:30

    เจ๋ง มาก เป็นประโยชน์มากค่ะ
    รบกวนฝากเว็บด้วยนะค่ะ

    ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เซอร์เทนตี้

    ตอบลบ