30 พฤษภาคม 2552

The Science of Aging - ชราศาสตร์: ศาสตร์แห่งการแก่ (ตอนที่ 1)


ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เมื่อเกือบสองพันหกร้อยปีมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงปฐมเทศนา แก่ปัญจวคีย์ทั้ง 5 ซึ่งการแสดงธรรมในครั้งนั้นเป็นผลให้มีพระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบองค์บริบูรณ์ เทศนากัณฐ์แรกขององค์ตถาคตนั้นรู้จักกันดีในนามว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งว่าด้วยเรื่องของอริยสัจสี่ ปฏิปทาที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์คือมรรคมีองค์แปด และส่วนที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมในเรื่องของความทุกข์อันเกิดจาก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ในที่สุดของความทุกข์ 4 อย่างนี้ ความแก่เป็นความทุกข์ของมนุษยชาติ และเป็นปริศนาที่วิทยาศาสตร์ต้องการไขกุญแจความลับในเรื่องนี้มาโดยตลอด


อะไรที่เป็นกลไกควบคุมเรื่องความแก่ สัตว์อย่างเต่าสามารถมีอายุยืนยาวได้นานนับร้อยๆ ปี แต่ทำไมสัตว์ขนาดเดียวกันชนิดอื่นถึงอยู่ได้แค่ 10 ปี หนูมีอายุขัยประมาณ 2 ปีแต่ญาติห่างๆของมันคือกระรอกกางปีก กลับอยู่ได้เป็น 20 ปี ไม่ต้องอะไรมาก ลิงชิมแปนซี ญาติห่างๆของเราที่มีรหัสพันธุกรรม 99% เหมือนกับพวกเรา แต่พวกเรามีอายุขัยมากกว่าพวกมันถึง 2 เท่า


สถาบันชราศาสตร์แห่งชาติ (National Institute on Aging หรือ NIA) เป็นองค์กรหลักแห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำวิจัยเรื่องนี้โดยตรง พร้อมกับให้ทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อทำวิจัยเพื่อไขปริศนาของการแก่ วิธีการหนึ่งทีเขาใช้ก็คือคอยติดตามดูว่ายีนตัวไหนที่ออกฤทธิ์หรือแสดงออก (Gene Expression) บ้างเมื่อเนื้อเยื่อต่างๆ เริ่มแก่ลง ซึ่งจะติดตามดูพร้อมๆกันในเนื้อเยื่อหลายๆ แห่ง ว่ายีนทำงานมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ของกลไกการแสดงออกของรหัสพันธุกรรม นักวิจัยพบว่าเนื้อเยื่อแต่ละชนิดแสดงอาการแก่ไม่เท่ากันเมื่อเวลาผ่านไป ด้วยเทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้ นักวิจัยสามารถที่จะติดตามการแสดงออกของยีนนับพันตัว ได้พร้อมๆกันในเนื้อเยื่อ 16 แห่ง ซึ่งทำให้สามารถเฝ้าดูรูปแบบหรือ Pattern ของการทำงานของยีนในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆที่กำลังแก่ ว่ามีลักษณะอย่างไร


ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปัจจัยหลัก 2 อย่างที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องแก่ตัวลง คือ (1) การเสียหายของเนื้อเยื่อ (2) เมตาบอลิซึ่มที่เกิดช้าลง แต่งานวิจัยในระยะหลังๆ นี้กลับพบว่า ในการศึกษาหลายๆ ครั้ง กลับมีผลที่ขัดแย้งกันเอง เช่น การแสดงออกของยีน เนื้อเยื่อในตับ สมอง และ กล้ามเนื้อ ไม่ค่อยจะเปลี่ยนไปนักเมื่อสัตว์แก่ลง ในขณะที่เนื้อเยื่อในปอด ตา และไทมัส มีการแสดงออกของยีนเปลี่ยนแปลงเยอะมาก


ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงดับสังขารเพื่อเสด็จสู่ปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ เมืองกุสินาราพระองค์ทรงได้ให้ปัจฉิมโอวาทแด่พระภิกษุสงฆ์ที่เข้าเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น ความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”


ชราศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่กำลังมาแรงในศตวรรษนี้ครับ เพราะเทคโนโลยีระดับโมเลุกล และนาโนเทคโนโลยี ได้เปิดมุมมองหลายๆอย่าง ทำให้เราเข้าใจในเรื่องของความแก่มากขึ้น แต่ท้ายที่สุด เทคโนโลยีของเราจะสามารถเอาชนะการเสื่อมถอยของสังขารได้หรือไม่ เวลาเท่านั้นที่ตอบได้ ........