ยุ่งแล้วล่ะสิครับ วันก่อนขณะขับรถกลับบ้านท่ามกลางสายฝนพรำ ลูกสาววัย 9 ขวบของผม อยู่ดีๆ ก็พูดโพล่งขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า "คุณพ่อคะ อะตอมว่าจริงๆแล้วเนี่ย พวกเราอาจจะเป็นเกมส์ที่เทวดากำลังเล่นกันอยู่ก็ได้นะ พวกเราเป็นตัวที่เทวดาปล่อยให้เล่นกันอยู่ในเกมส์ของเค้า" ผมได้ยินก็รู้สึกประหลาดใจเหมือนกัน เพราะตอนนั้นผมก็กำลังคิดอยู่เหมือนกันว่าไม่ได้เขียนเรื่องนี้ลง Blog มาสักพักแล้ว เพราะมีคิวเรื่องอื่นๆอยู่ที่อยากนำมาเล่า ผมถามลูกสาวผมกลับไปว่า "ทำไมหนูถึงคิดอย่างนั้นล่ะคะ" ลูกสาวผมตอบว่า "ก็เหมือนเกมส์ Spore ที่อะตอมเล่นที่มหาลัยไงคะ พวกตัวที่อะตอมสร้าง พวกเผ่าพันธุ์ของมันในเกมส์ มันก็ไม่รู้หรอกว่าเรากำลังเล่นมันอยู่ ....." ผมได้ยินลูกพูดอย่างนี้ทำให้ผมยิ่งเพิ่มความสงสัยมากยิ่งขึ้นไปอีกว่า ตกลงพวกเรามีจริงหรือไม่ หรือพวกเราเป็นเพียง สิ่งที่กำลัง simulated อยู่ในคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ พวกเรามีตัวตนจริงๆ หรือไม่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีหรือไม่มีอยู่จริง ??? ผมจะทยอยนำเรื่องนี้มาเล่านะครับ เพราะว่าเรื่องนี้คงต้องคุยกันอีกยาว !
ในช่วงหลังๆนี้ วิทยาศาสตร์ทั้งกายภาพและชีวภาพ และแม้แต่คณิตศาสตร์วิ่งเข้ามาศึกษาเรื่องจิตใจ หรือ Mind Sciences กันมากครับ ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะเกิดการบูรณาการขนานใหญ่ระหว่างศาสตร์เหล่านี้ แม้แต่ในเรื่องของศิลปะก็จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ เกมส์ Spore ที่ลูกสาวของผมพูดถึงนั้น เป็นตัวอย่างของการหลอมรวมกันระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับผิวๆนะครับ แต่เป็นระดับปรัชญาเลยทีเดียว
เจ้าเกมส์ Spore นี้ เป็นเกมส์ที่มีสมมติฐานว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ได้ DNA มาจากดาวเคราะห์ดวงอื่น เกมส์จะเริ่มต้นด้วยการที่อุกกาบาตจากนอกโลกได้พา DNA จำนวนหนึ่งมาตกลงในมหาสมุทรของโลก ผู้เล่นต้องเริ่มเล่นจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว พามันหาอาหาร แลัวก็วิวัฒนาการจนขึ้นมาอยู่บนบก สร้างศักยภาพในการสื่อสาร สร้างสังคม ชนเผ่า ไปจนถึงอารยธรรมที่ก้าวหน้า เกมส์นี้จึงเล่นสนุกมาก เหมือนกับว่าเราเป็นพระเจ้าเลยทีเดียว แน่นอนครับว่าทุกเกมส์ยอมมีกฏ เกมส์นี้ก็มีกฏที่ต้องปฏิบัติตาม ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เราอาศัยอยู่นี้ก็มีกฏแห่งกรรม เป็นตัวควบคุม ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า พวกเราอาศัยอยู่ในเกมส์ที่รันอยู่หรือไม่
เรามาติดตามเรื่องนี้ต่อในวันหลังครับ ......