อิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้กำลังจะกลายมาเป็นเรื่องที่ฮ็อตฮิตติดตลาดเร็วๆ นี้แล้วล่ะครับ ก่อนหน้านี้ผมก็ได้พยายามนำเรื่องราวทางด้านนี้มาพูดคุยเรื่อยๆ เพราะอันที่จริง ประเทศไทยของเรานั้นก็มีอุตสาหกรรมทั้งทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการพิมพ์ หาก 2 อุตสาหกรรมนี้มาร่วมมือกัน เราก็มีโอกาสที่จะติดเข้าไปในกลุ่มประเทศที่เป็นเจ้าของอุตสาหกรรม Printed Electronics ได้ในอนาคตนะครับ
สินค้าในอนาคตที่จะผลิตด้วยกระบวนการพิมพ์มีได้มากมาย เช่น จอภาพ หน่วยความจำ แผงวงจรแบบยืดหยุ่น เซ็นเซอร์ และ โซลาร์เซลล์ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่นักหรอกครับว่ากระบวนการพิมพ์จะเหมาะกับโซลาร์เซลล์ แต่เมื่อเร็วๆนี้ ห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติ (National Renewable Energy Laboratory) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังจะดำเนินการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ต้นแบบ ด้วยวิธีการพิมพ์แบบอิงค์เจ็ต โดยเริ่มแรกจะใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตเพื่อพิมพ์ลายเส้นตัวนำไฟฟ้าบนแผ่นฟิล์มซิลิกอน ซึ่งเมื่อก่อนจะใช้วิธีการสกรีน การใช้วิธีอิงค์เจ็ตซึ่งเป็นระบบที่ไม่ต้องสัมผัสหน้าวัสดุ จะทำให้สามารถทำลายเส้นให้ผอมลงได้จาก 100-125 ไมครอน ลดลงเหลือเพียง 35-40 ไมครอน ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนด้านวัสดุถูกลงมากเลยล่ะครับ และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ วิธีอิงค์เจ็ตทำให้แผ่นเวเฟอร์ซึ่งทำจากซิลิกอน (ซึ่งเป็นต้นทุน 3 ใน 4 ของโซลาร์เซลล์) ซึ่งโดยปรกติจะต้องทำให้หนาประมาณ 200 ไมครอน สามารถทำให้บางลงไปอีกได้ครับเพราะการพิมพ์ด้วยอิงค์เจ็ตไม่มีการใช้แรงกดลงบนหน้าสัมผัส จึงทำให้สามารถทำแผ่นซิลิกอนให้บางลงไป 50% หรือมากไปกว่านั้นอีก
ผมจะมารายงานสถานการณ์ความก้าวหน้าที่สำคัญของศาสตร์ทางด้านนี้อีกเรื่อยๆ นะครับ ......