“โรงงานในอนาคตจะมีลูกจ้างเพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น ตำแหน่งหนึ่งเป็นมนุษย์ อีกตำแหน่งเป็นสุนัข มนุษย์ถูกจ้างเอาไว้เพื่อเลี้ยงดูสุนัข ในขณะที่สุนัขถูกจ้างเอาไว้เพื่อคอยเฝ้าไม่ให้มนุษย์แตะต้องเครื่องควบคุมหรือปุ่มกดใดๆ”
เจ้าของคำกล่าวข้างต้นคือ ศาสตราจารย์ วอร์เรน เบนนิส (Warren Bennis) ผู้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในด้านงานเขียน การสอนและการวิจัยทางด้านการบริหาร และการจัดการองค์กรขนาดใหญ่ รวมไปถึงการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้แก่องค์กร ท่านยังเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐถึง 4 คน คำกล่าวนี้ ฟังดูแรกๆ ก็ออกจะเกินจริงไปสักหน่อย แต่นักเทคโนโลยีอนาคตกลับมองว่ามันไม่ใช่เรื่องตลกเลย
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิค ประเทศเยอรมัน โรงอาหารของมหาวิทยาลัยที่นั่นดูแลผู้คนนับพันโดยจ้างคนมาจัดการไม่ถึง 10 คน ผู้ที่เข้าไปใช้บริการในโรงอาหารจะต้องบรรจุเงินใส่บัตร Pre-Paid Card ด้วยตู้อัตโนมัติ การเลือกอาหารทำโดยการเดินหยิบอาหารที่พนักงานตักให้ร้อนๆ จากนั้นเดินไปจ่ายเงินด้วยการรูดบัตร ส่วนเครื่องดื่มก็ใช้การกดปุ่มที่ตู้อัตโนมัติโดยให้เครื่องหักเงินจากบัตร เมื่อทานเสร็จแล้วผู้ใช้บริการต้องนำภาชนะไปวางบนสายพาน ที่จะเลื่อนเข้าไปสู่เครื่องชะล้างภายใน เมนูอาหารแต่ละวันของที่นี่ทั้งภาคการศึกษา คุณสามารถอ่านได้จากอินเตอร์เน็ต ถ้าวันไหนไม่ชอบ พวกเราก็จะวางแผนขับรถออกไปทานข้างนอกกันล่วงหน้า
นักเทคโนโลยีอนาคตล้วนลงมติว่าภายในระยะเวลาอีก 20-50 ปีข้างหน้าจะช่วงเวลาสำคัญยิ่งต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีที่แล้ว อันเป็นการเปลี่ยนวิถีเศรษฐกิจฐานเกษตร มาเป็นเศรษฐกิจฐานอุตสาหกรรม ซึ่งได้กลายมาเป็นเศรษฐกิจฐานบริการในปัจจุบัน ถึงตอนนี้มีศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกแล้ว เช่น Molecular Economy, Experience Economy, Boutique Economy มีสถิติหลายอย่างที่บอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไม่สามารถหยุดรั้ง ไม่ว่าบริษัทที่คุณแสนมั่นอกมั่นใจจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน หรือ มีผลกำไรมหาศาลแค่ไหน อีก 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะล้มลงได้หากไม่คิดปรับตัว จากสถิติของบริษัทอเมริกันนั้นพบว่า บริษัทใหญ่ที่สุดของอเมริกัน 100 บริษัทแรกที่ก่อตั้งเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เหลือข้ามมาถึงศตวรรษนี้เพียง 16 แห่ง และอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่สุด 100 แห่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 32 เจ้าเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะอุตสาหกรรมเหล่านั้นไม่รู้จักคำว่า “นวัตกรรม” และไม่รู้จักกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีอุบัติใหม่ขึ้นมากมาย ซึ่งกำลังจะเข้ามากลืนกินผู้ประกอบการหน้าเดิมที่ไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ระบบควบคุมระยะไกล ระบบเครือข่ายอัจฉริยะ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีพันธุกรรม โรงงานและระบบผลิตย่อส่วน เป็นต้น ในหนังสือ Re-imagine ของ Tom Peters เขาได้ทำนายเอาไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2020 ในสำนักงานใหญ่ของกิจการข้ามชาติมูลค่าหมื่นล้านดอลลาร์ จะต้องการเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 7 คน เพื่อดูแลทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนงานอื่นๆ ของบริษัทได้ถูกกระจายไปยัง อินเดีย จีน แอฟริกา ไทย สิงคโปร์ เป็นต้น
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเริ่มสนใจเทคโนโลยีใหม่ที่ฉายแววจะเป็น Disruptive Technologies เพื่อไม่ให้เราตกรถไฟขบวนนี้ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา .......
(ภาพด้านบน - click ที่ภาพเพื่อให้ใหญ่ขึ้น - แม้แต่ตำแหน่งงานในกองทัพก็จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น