21 มกราคม 2551

Disruptive Technologies ตอนที่ 3



ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน เอ็ม คริสเต็นเซ็น (Clayton M. Christensen) แห่งวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้วางรากฐานทฤษฎีเกี่ยวกับการล้มลงของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไว้อย่างน่าสนใจว่า “อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มองหาแต่สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีที่ยั่งยืน (Sustaining Technology) ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะว่าเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีแล้ว ไม่มีคำว่ายั่งยืน มีแต่ของใหม่แทนของเก่า ดังนั้นเมื่อมีเทคโนโลยีแบบใหม่เกิดขึ้นในลักษณะที่เรียกว่า เทคโนโลยีแบบลบล้าง (Disruptive Technology) อุตสาหกรรมจะไม่ใคร่ให้ความสนใจนัก จนกระทั่งสายเกินไป” Disruptive Technology มีความโหดร้ายในตัวของมันเอง กล่าวคือ ตอนมันเกิดขึ้นแรกๆ มันจะเป็นสิ่งที่น้อยคนจะสนใจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ดังนั้นมันจะซึมเข้าตลาดสู่ผู้ใช้รายใหม่อย่างเงียบๆ แล้วค่อยๆ เติบโตจนกระทั่งไปแย่งลูกค้าเก่า กระทั่งอุตสาหกรรมเจ้าเก่าต้องล้มตายไปเลย ศาสตราจารย์ คริสเต็นเซ็น ได้ยกตัวอย่าง Disruptive Technology ที่มาแทนเทคโนโลยีเก่าอย่างโหดร้าย รุนแรง ไม่ทันตั้งตัว เช่น กล้องดิจิตอลมาแทนที่กล้องใช้ฟิล์ม โทรศัพท์เคลื่อนที่มาแทนโทรศัพท์บ้าน คอมพิวตอร์ตั้งโต๊ะแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค การซื้อหุ้นผ่านนายหน้าถูกแทนที่ด้วยการซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต รถตักแบ็คโฮขนาดเล็กมาแทนรถตักคาเตอร์พิลลาขนาดใหญ่


จากสถิติของบริษัทอเมริกันนั้นพบว่า บริษัทใหญ่ที่สุดของอเมริกัน 100 บริษัทแรกที่ก่อตั้งเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เหลือข้ามมาถึงศตวรรษนี้เพียง 16 แห่ง และอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่สุด 100 แห่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 32 เจ้าเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะอุตสาหกรรมเหล่านั้นไม่รู้จักคำว่า “นวัตกรรม” และไม่รู้จักกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีอุบัติใหม่ขึ้นมากมาย ซึ่งกำลังจะเข้ามากลืนกินผู้ประกอบการหน้าเดิมที่ไม่ทันตั้งตัว บริษัทใหญ่ๆ ของไทยเราที่เสี่ยงต่อการล้มหาย ตายจาก ก็ได้แก่ ปูนซีเมนต์ไทย ปตท. กสท. องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพราะขนาดของบริษัทใหญ่เกินไป ซึ่งขัดกับโมเดลของศตวรรษที่ 21 ศาสตราจารย์คริสเต็นเซ็น ยังได้เปรยติดตลกว่า "เรื่องนวัตกรรมแบบลบล้าง (Disruptive Innovation) กับบริษัทใหญ่ มันก็เหมือนน้ำกับน้ำมัน ธรรมชาติของบริษัทใหญ่ก็คิดแต่กำไรมากๆ กับของที่ผลิตอยู่ในวันนี้เท่านั้น" ผู้เขียนยังจำได้ว่าเมื่อเทคโนโลยี VoIP ออกมาใหม่ๆ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว กสท. ยักษ์ใหญ่ผู้ผูกขาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ไม่ได้ให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้ แถมพยายามกีดกันการใช้งาน โดยบอกว่าเป็นการผิดกฏหมาย วันนี้ กสท. เป็นเจ้าใหญ่ที่สุดที่ใช้เทคโนโลยีนี้ครับ แต่ผลก็คือ คนหนีไปใช้ Skype กันหมดแล้ว ซึ่งทำให้ กสท. ประสบกับปัญหากำไรหดต่อเนื่องมาหลายปี และอาจเข้าข่ายป่วยเลยก็ได้ ตามนิยามของศาสตราจารย์คริสเต็นเซ็น เป๊ะเลยครับ



Disruptive Innovation เป็นเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสนใจกันน้อย แม้แต่หน่วยงานที่ทำงานด้านนวัตกรรมตรงๆ ของเรา อย่าง NIA ยังชอบที่จะสนับสนุน Sustaining Innovation มากกว่า เพราะการสร้าง Disruptive Innovation ต้องทำ Basic Research เยอะมาก ซึ่งเป็นงานถนัดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. มาโดยตลอด ...........



(ภาพด้านบน - โทรศัพท์มือถือติดกล้องเป็น Disruptive Innovation กำลังจะมาแทน Digital Camera ซึ่งเป็น Sustaining Innovation ในไม่ช้า)