14 มกราคม 2551

Intelligent Greenhouse - ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ (ตอนที่ 2)



วันนี้ผมขอมาเล่าต่อนะครับ ในโอกาสที่ได้ไปสังเกตการณ์ การประชุมระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนที่เทคโนโลยีเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ (Agritronics) เพื่อ กล้วยไม้ ลำไย และปลาบึก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2551 ในวันที่สอง ก็ได้ไปเยี่ยมชม สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สำหรับสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ ผมถือว่าเป็น Fan Club คนหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากได้ไปเยี่ยมชมหลายครั้งแล้ว ทั้งหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว ที่นั่นมีโรงเรือนหลายแบบ ตั้งแต่ ร้อนแห้งแบบทะเลทราย ไปถึงชุ่มเย็นแบบป่าฝน มีโรงเรือนสำหรับไม้ใบ ไม้ดอก บัวและพืชชุ่มน้ำ โรงเรือนป่าฝนนั้นมีขนาดใหญ่อลังการมาก ถึงขนาดข้างในมีน้ำตก และบันไดเวียนเพื่อดูบรรยากาศข้างในโรงเรือน มีระบบปล่อยไอน้ำเพื่อควบคุมความชื้น หลังคาปรับเปิดปิดเพื่อควบคุมความเข้มแสง โรงเรือนชนิดนี้สร้างโดยประเทศฝรั่งเศส มีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแสง อย่างไรก็ตามเซ็นเซอร์บางตัวก็เสียหายไม่ทำงานแล้ว การเปลี่ยนชุดเซ็นเซอร์มีราคาค่างวดที่แพง เนื่องจากหมดสัญญาดูแลแล้ว ดังนั้นทางสวนพฤกษศาสตร์จึงอยากให้ NECTEC เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของระบบเซ็นเซอร์


ผม และ คณะเดินทางที่ไปด้วยกัน ได้แก่ ดร. อดิสร ดร.ปิยะวุฒิ และ ดร. อุทัย ยังได้มีโอกาสไปดูสวนกล้วยไม้ของสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรือนแบบเปิด ซึ่งเป็นที่เพาะเลี้ยงและอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าจำนวนมาก ทางสวนฯ มีดำริจะให้มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ เพื่อ monitor สภาพล้อมรอบที่แตกต่างกันในบริเวณโรงเรือน ที่มีพื้นที่กว้าง มีร่มเงาแตกต่างกัน รวมไปถึงการเล่นระดับความสูง ที่ทำให้มี micro-climate หรือ micro-environment แตกต่าง ซึ่งจะมีความเหมาะสมกับกล้วยไม้แต่ละพันธุ์แตกต่างกันไป ผมได้จินตนาการถึงระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพในเรือนกล้วยไม้ ที่ interactive กับผู้ดูแลผ่านโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะกลับเราก็ได้ตั้งใจ และวางพันธะสัญญาต่อกันในคณะเดินทางว่า จะกลับมาใหม่ พร้อมกับเทคโนโลยีเพื่อมาติดตั้ง ณ ที่นี่ให้ได้
(ภาพด้านบน - Greenhouse ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ภายใน สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่)