13 มกราคม 2551

Intelligent Greenhouse - ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)



เล่าเรื่องต่อจากเมื่อวานนะครับ กับการที่ nanothailand ไปสังเกตการณ์ การประชุมระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนที่เทคโนโลยีเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ (Agritronics) เพื่อ กล้วยไม้ ลำไย และปลาบึก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปดูระบบโรงเรือน 2 ที่ ที่แรกก็คือ โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตกล้วยไม้เชิงอุตสาหกรรม ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ โรงเรือนที่เขาใช้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้มี 2 แบบ คือ โรงเรือนแบบปิด กับ โรงเรือนแบบเปิด โรงเรือนที่นั่นเป็นแบบปิด สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ป้องกันแมลงเข้าไปในโรงเรือน โดยโรงเรือนเป็นโครงเหล็ก ใช้วัสดุพลาสติกครอบทั้งด้านข้าง และ หลังคา พลาสติกที่ใช้ครอบโรงเรือนเป็นพลาสติกที่ออกแบบมาให้มีความแข็งแรง มีความใสที่สามารถผ่าน สเปคตรัมของแสงที่พืชต้องการให้เข้าไปในโรงเรือน และกันช่วงความยาวคลื่นที่ไม่ต้องการออกไป พลาสติกที่ว่านี้จะต้องทนรังสี UV ด้วยนะครับ มิฉะนั้นมันจะกรอบอันเนื่องมาจาก โมเลกุลพอลิเมอร์เกิด Free Radicals เข้าทำปฏิกริยากันเป็น Crosslinked Chains ทำให้เสียสมบัติความยืดหยุ่นในที่สุด เท่าที่ผมดู โรงเรือนในศูนย์ก็ใช้กันมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว พลาสติกที่ว่าก็เริ่มกรอบเสียหายแล้ว โรงเรือนที่ว่านี้ บริษัทในประเทศอิสราเอลเป็นคนประกอบและสร้างให้ อีกปัญหาที่พบคือ ตัวคอนโทรลที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับควบคุมการเปิดปิดน้ำเย็น (เพื่อควบคุมให้กล้วยไม้ได้รับอุณหภูมิสม่ำเสมอ) เปิดพัดลมระบายอากาศ ได้เสียหายไม่สามารถทำงานได้ แต่ก็ยังสามารถทำงานด้วยระบบมืออยู่ครับ ทางวิศวกรผู้ควบคุมโรงเรือนได้ให้ความช่วยเหลือในการพาเข้าชม และตอบข้อสงสัยทุกอย่าง ท่านอยากให้มีเทคโนโลยีของคนไทยเพื่อนำมาใช้ทดแทนโรงเรือนของนอก หรืออย่างน้อยสร้างอะหลั่ยที่ใช้ทดแทนของที่เสียหาย เช่น พลาสติก เนี่ยผมไม่แน่ใจว่าเป็น Polycarbonate ผสมอนุภาคนาโนบางชนิดเพื่อทำให้เกิดความแข็งแรง และทนต่อ UV วัสดุที่ใช้เลี้ยงกล้วยไม้ก็น่าจะคิดทำในเมืองไทย เซ็นเซอร์ที่วัดอุณหภูมิ ความชื้น แสง และระบบควบคุมก็น่าจะทำได้ในเมืองไทย เช่นกัน

วันพรุ่งนี้ ผมจะมาเล่าต่อถึงอีกสถานที่ ที่ผมได้เป็นเยี่ยมชมนะครับ ........


(ภาพด้านบน - โรงเรือน หรือ Greenhouse มีความจำเป็นในประเทศที่มีอากาศหนาว เพื่อควบคุมให้สภาพในโรงเรือนมีความอบอุ่น เหมาะกับการปลูกพืช แต่ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนนั้น จะต้องมีการดัดแปลงเทคโนโลยี เช่น สำหรับกล้วยไม้ จะต้องมีระบบทำความเย็น โดยจะปล่อยน้ำเย็นออกมาผ่านครีบระบายความร้อน แล้วอาศัยลมที่เกิดจากพัดลม ดูดอากาศเย็นให้มาผ่านกล้วยไม้)