ทุกๆ เช้า ก่อนจะขับรถออกจากบ้านเพื่อมาทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 นอกจากจะเข้าไปตรวจสอบสภาพอากาศ ที่คณะวิทยาศาสตร์ว่าเป็นยังไง อุณหภูมิเท่าไหร่ มีแดดมั้ย ผมก็จะต้องเข้า web site ของการทางพิเศษ เพื่อตรวจสอบดูก่อนว่าการจราจรบนทางด่วนเป็นอย่างไร รถหายติดหรือยัง บางทีแปดโมงครึ่งก็หายติดแล้ว บางวันอาจต้องรอถึง 9 โมง เมื่อออกจากบ้านขึ้นทางด่วนไปถึงถนนพระราม 6 ส่วนใหญ่ก็จะค่อนข้างแม่น ใช้เวลาบนทางด่วนเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ไม่ทราบว่าทางด่วนของเราใช้คนคอยดูกล้องวงจรปิด แล้วป้อนข้อมูลเข้าอินเตอร์เน็ต หรือว่าใช้ซอฟต์แวร์เพื่อตรวจสอบแบบเรียลไทม์
สิ่งที่ผมกล่าวมานั้น คงเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงของอนาคต หรือ Smart Highway ซึ่งถนนหนทางจะกลายมาเป็นสิ่งที่มีหัวคิด ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งของไร้วิญญาณ ที่วางตัวเฉยปล่อยให้รถของเราวิ่งไปบนตัวมัน แต่ถนนอัจฉริยะนี้จะคอยอำนวยความสะดวกให้เรา คอยรับใช้เราให้ขับรถไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ด้วยความเร็วที่ทางหลวงสมัยนี้ให้แก่เราไม่ได้ กรมทางหลวงเกาหลีใต้ได้ริเริ่มโครงการในฝัน Smart Highway ขึ้นแล้วในปีนี้ โดยสนับสนุนเงินเกือบ 162 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออัดฉีดเข้าไปให้แก่โครงการวิจัยต่างๆ ให้เริ่มวางแผนและออกแบบ Smart Highway โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ต้นแบบ Blueprint ของ Smart Highway งบประมาณจำนวนนี้ เฉพาะทำวิจัยเท่านั้น ไม่ได้รวมงบก่อสร้างถนนจริง โดยจะสนับสนุนงานวิจัยทางด้าน วัสดุปูพื้นถนนแบบใหม่ เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ใช้ตรวจสอบผิวทาง การจราจร สัญญาณอันตราย ระบบไอทีของทางหลวง ระบบนี้จะช่วยให้ยวดยานสามารถขับขี่ได้ที่ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างปลอดภัย ระบบเซ็นเซอร์ และ ระบบไอทีจะติดต่อคอยอำนวยความสะดวกให้คนขับรู้ถึงสภาพอากาศ สภาพถนน การจราจร อุบัติเหตุ น่าอิจฉาคนเกาหลีจัง ..........