12 มกราคม 2551

Agritronics - เกษตรอิเล็กทรอนิกส์



เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2551 ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์ การประชุมระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนที่เทคโนโลยีเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ (Agritronics) เพื่อ กล้วยไม้ ลำไย และปลาบึก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 2 แล้วครับ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปถึงขอบเขต และความต้องการเร่งด่วน ด้านเทคโนโลยี Agritronics เพื่อนำมาใช้งานด้านการเกษตร สำหรับผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ข้างต้น ได้เร็วๆ นี้ ในการประชุมครั้งนี้ก็อยู่กันครบ ทั้งผู้ให้ทุนก็คือ NECTEC ซึ่งเป็นผู้จัดงาน นักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทั้งของ NECTEC เองกับมหาวิทยาลัย และก็เกษตรกรผู้ต้องการใช้ ซึ่งเทคโนโลยีที่เกษตรกรต้องการ มีเยอะแยะครับ ว่างๆ ผมจะกลับมาเล่าให้ฟังเน้นเป็นบางเรื่องที่กำลังจะกลายมาเป็นกระแสสำคัญ วันนี้ก็คร่าวๆ ก่อนนะครับ อย่างเช่น กลุ่มลำไยเนี่ย เขาต้องการเทคโนโลยีเพื่อควบคุมสภาพล้อมรอบ วัสดุเกษตรแบบใหม่เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ระบบให้ปุ๋ย น้ำ ที่ฉลาด บรรจุภัณฑ์ฉลาด เครื่องตรวจวัดต่างๆ เช่น ความหวาน สารตกค้าง ระบบผู้เชี่ยวชาญ ระบบพยากรณ์ผลผลิต และระบบช่วยตัดสินใจต่างๆ เช่น การกำหนด zone ปลูก เครื่องไล่แมลง เครื่องวิเคราะห์ปุ๋ย เครื่องวิเคราะห์ดิน


ส่วนกลุ่มกล้วยไม้นั้น ความต้องการเทคโนโลยีก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันครับ ระบบการรวมกลุ่มเกษตรกรของเขาค่อนข้างจะแข็งแรง เทคโนโลยีที่เขาต้องการได้แก่ ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์ฉลาด วัสดุเพาะปลูกแบบใหม่ ระบบความเชี่ยวชาญเพื่อทำนายผลผลิต ซอฟต์แวร์ช่วยในการตัดสินใจ โจทย์วิจัยเยอะครับ แต่ไม่รู้จะหาคนทำได้หรือเปล่า ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าหลังจากนั้น แผนปฏิบัติการที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง (Realistic Action Plan) จะเป็นอย่างไร ผมรู้สึกเห็นใจเกษตรกรที่เข้ามาร่วมประชุม เขาตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูง และเขาก็บอกว่าเขาเข้ามาประชุมคล้ายๆ อย่างนี้หลายครั้งแล้ว คนนู้นจัดที คนนี้จัดที ก็ได้แต่รอว่าทีมที่จัดทีมไหนจะทำให้ ฝันของเกษตรกรไทยเป็นจริง