10 กันยายน 2550

อิเล็กทรอนิกส์ที่กินได้ (Edible Electronics)


นับตั้งแต่มีการคิดค้นทรานซิสเตอร์ในปี ค.ศ. 1947 โดย John Bardeen และ Walter Brattain ซึ่งนำมาสู่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ. 1956 โลกของอิเล็กทรอนิกส์ก็ถือกำเนิดขึ้น ยิ่งภายหลังการคิดค้นวงจรรวม IC โดย Jack Kilby กับ Robert Noyce ระหว่าง ค.ศ. 1958-1959 แล้ว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็เริ่มกลายมาเป็นสิ่งที่เข้าถึงชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการลดขนาด และ เพิ่มความสามารถขึ้นตามกฎของมัวร์ ทำให้ทุกวันนี้อารยธรรมของเราไม่อาจอยู่โดยขาดมันได้ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น แม้แต่นอนเล่น ชมเกลียวคลื่น อยู่บนเก้าอี้ชายหาดที่หัวหิน ก็ยังต้องควักเอา i-Pod ออกมานั่งฟังเพลงซักหน่อย ความสุขความทุกข์ของมนุษย์ฝากเอาไว้กับเทคโนโลยีนี้มากว่าครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว


ในอดีตที่ผ่านมา อิเล็กทรอนิกส์มีพื้นฐานอยู่บนวัสดุประเภทอนินทรีย์เป็นหลัก โดยวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ความจุสูง จะอยู่บนซิลิกอน แต่ในระยะ 5-10 ปีมานี้ได้เกิดปรากฏการณ์ อิเล็กทรอนิกส์ทางเลือก ที่มีความต้องการวัสดุใหม่ๆ มาทำอิเล็กทรอนิกส์ ได้เกิดศัพท์ใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ (Plastic Electronics) อินทรีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Organic Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้ (Printed Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบม้วนได้ (Rollable Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบพับได้ (Foldable Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบโค้งงอได้ (Flexible Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบยืดได้ (Stretchable Electronics) ล่าสุดได้เกิดศาสตร์ใหม่อีกแล้ว คราวนี้เป็น อิเล็กทรอนิกส์ที่กินได้ (Edible Electronics) และ อิเล็กทรอนิกส์ที่ย่อยได้ (Digetable Electronics) แน่นอน วัสดุที่จะทำหน้าที่อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ๆ นี้ก็ต้อง วัสดุอินทรีย์ และ ชีวภาพ ทั้งนี้บริษัท Kodak และ Somark Innovations ได้จดสิทธิบัตรวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่กินได้ เพื่อใช้ตรวจสอบสุขภาพของมนุษย์ ด้วยการกินเข้าไป


(ภาพซ้ายมือ - อิเล็กทรอนิกส์แบบกินได้ ไม่รู้จะอร่อยมั้ย แต่อีกไม่นาน เราคงได้กินมันเหมือนขนม)

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 พฤษภาคม 2555 เวลา 11:37

    นั้นสิครับ สงสัยอนาคตอาจต้องระวังไม่ให้คอมพ์โดนมดกินหมดก็ได้น่ะครับ

    ตอบลบ