20 สิงหาคม 2552

The Science of Forgetting - ศาสตร์แห่งการลืม (ตอนที่ 4)


ในภาพยนตร์เรื่อง "แฟนเก่า" พระเอกเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้และเคยมีแฟนหลายคน แต่ความสัมพันธ์กับผู้หญิงแต่ละคน ก็ต้องจบที่การเลิกรากันไปทุกคน จนกระทั่งได้มาพบกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เขารักและตัดสินใจจะแต่งงานด้วย แต่ชีวิตเขากลับถูกรังควาญด้วยสิ่งลึกลับ ที่ทำให้คนรอบๆตัวเขาพากันหนีห่างออกไปจากเขาทีละคน ในตอนจบของหนังเรื่องนี้ เขาจึงได้คำตอบว่า สิ่งที่ตามรังควาญเขาก็คือ "แฟนเก่า" ของเขาที่ยังคงหลงรักและ "ไม่อาจลืม" ความรักที่มีต่อเขาได้ แม้จะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม


ในตอนก่อนหน้านี้ ผมได้เล่าให้ฟังไปบ้างแล้วครับว่า การแสวงหาความเข้าใจในเรื่องของการลืม นั้นมีความสำคัญอย่างไร วันนี้มาคุยกันต่อนะครับ ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนหลงลืมสิ่งต่างๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปไว้ 6 ข้อครับ ได้แก่

Ineffective Encoding การเข้ารหัสความจำที่ไม่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ การที่คนเราจะจำอะไรสักอย่าง เซลล์สมองจะมีการสร้างเครือข่ายกับเซลล์ประสาทอื่นๆ รอบข้าง แต่การสร้างเครือข่ายเหล่านั้น อาจจะไม่ดี หากเราไม่ได้มีความสนใจในสิ่งที่ต้องจำนั้นๆ เพียงพอ เช่น การอ่านหนังสือไปดูโทรทัศน์ไป จะทำให้การเข้ารหัสความจำไม่มีประสิทธิภาพ

Decay การเสื่อมถอยของความจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปตามระยะเวลา ซึ่งมักจะเกิดกับเหตุการณ์ที่ไม่สำคัญมาก เช่น คนเราจะจำวันแรกๆที่เข้ามหาวิทยาลัยได้ หรือจำวันแต่งงานได้ แต่ลืมว่าทานกับข้าวอะไรไปบ้างเมื่อเย็นวานนี้เอง

Interference การรบกวนกันเองของความจำ ซึ่งเกิดจากความจำเรื่องหนึ่งเกิดการรบกวน หรือสับสนกับความจำอีกเรื่องหนึ่ง เช่น เวลาไปทานข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งแล้วสับสนว่าตนเองเคยมาทานกับภรรยา แต่จริงๆแล้ว คนที่เคยมาด้วยนั้นเป็นแฟนเก่า อย่างนี้ก็มีเรื่องมาเยอะแล้วครับ การรบกวนกันเองก็มี 2 แบบคือ Retroactive Interference คือการที่ของที่เข้าไปใหม่ไปทำให้ลืมของเก่า หรือที่คนโบราณเรียกว่า "ได้ใหม่ ลืมเก่า" นั่นละครับ กับProactive Interference คือการที่ความจำเก่า มาทำให้เราลืมความจำใหม่

Retrieval Failure การนึกไม่ออก ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ได้ลืมแต่ไม่สามารถดึงความจำส่วนนั้นออกมาใช้ได้ จนกว่าจะมีสิ่งที่สัมพันธ์กับสิ่งนั้นพาไปหาข้อมูลตัวนี้ ในภาพยนตร์เรื่อง "แฟนเก่า" พระเอกก็ลืมไปแล้วว่าเคยไปสัญญิงสัญญากับผู้หญิงคนไหน วิญญาณเธอถึงตามมาทวงสัญญา จนกระทั่งมีการ "บอกใบ้" ถึงจะอ๋อ

Motivated Forgetting การหลอกให้ลืม เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาเพื่อให้คนเราลืมสิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง เป็นการรักษาทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะให้ลืม ปัจจุบันนักวิจัยกำลังค้นหาวิธีการเขียนความจำเข้าไปแทนที่ส่วนที่อยากลืมครับ

Physical Injury / Trauma ความกระทบกระเทือนทางสมอง ทำให้คนเราลืมอดีต ซึ่งภาพยนตร์ชอบเอาไปทำพล็อตเรื่อง ในที่สุดก็มีเหตุที่ทำให้ความจำต่างๆเหล่านั้นกลับคืนมา แนวนี้ทำทีไรก็ขายได้ตลอด

วันหลังค่อยคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ ......