25 เมษายน 2553

Smart Vineyard - ไร่องุ่นอัจฉริยะ (ตอนที่ 4)


เทคโนโลยี Smart Vineyard ที่ทางคณะวิจัยของศูนย์นาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพัฒนากับ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเครื่องกลจุลภาคและนาโนอิเล็กทรอนิกส์ แห่งเนคเทค แล้วนำไปทดลองใช้งานจริงที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นี้อยู่ภายใต้กรอบการวิจัยเกษตรแห่งอนาคต (Agriculture Vision 2025) ซึ่งมองว่าในอนาคตประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะกลับมาถวิลหาเกษตรกรรม นัยว่า ปัญหาประชากร ปัญหาโลกร้อน และปัญหาพลังงาน จะทำให้ประเทศที่ไม่มีเกษตรกรรม จะดำรงอยู่ได้ด้วยความลำบาก ทั้งนี้เกษตรกรรมในยุคหน้า จะเปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างสิ้นเชิง วิชาเกษตรที่ร่ำเรียนกันมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อาจจะใช้ไม่ได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า เรียกว่าจะตกขอบไปเลย แย่กว่านั้นก็อาจจะถึงขั้นฉีกตำราทิ้ง .....

เทคโนโลยีภายใต้กรอบวิจัยเกษตรแห่งอนาคต ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องการพัฒนามีทั้งแบบ การเกษตรกลางแจ้ง (Outdoor Agriculture) และการเกษตรในร่ม (Indoor Agriculture) ในระยะใกล้ การเกษตรกลางแจ้งยังมีความสำคัญอยู่ แต่ในระยะยาวนั้น เรามองว่า โลกในอนาคต เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อนที่รุนแรง ก็จักต้องจำใจคืนผืนดินในชนบทให้กลับสู่ธรรมชาติ ผืนแผ่นดินที่เคยใช้ทำการเกษตร จะต้องคืนให้ไปเป็นป่าเพื่อเป็นที่ดูดซับคาร์บอน เกษตรกรรมจะเข้าไปอยู่ในเมือง (Urban Agriculture) ไปอยู่ในอาคาร (Vertical Farming) ซึ่งจะทำให้แหล่งผลิตอาหาร อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น โลกยุคหน้าจะมีการลดระยะทางระหว่าง Supply กับ Demand ระบบ Logistics จะกลับสู่สามัญ ความซับซ้อนจะลดลง ทั้งนี้เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศต่างๆ จะเริ่มทำเกษตรกรรมเอง ซึ่งจะเป็นเกษตรกรรมในร่ม พืชที่เคยปลูกได้เฉพาะในภูมิอากาศแบบหนึ่ง จะไปเจริญงอกงามในที่อื่นๆ ทั่วโลก โลกจะเข้าสู่ยุคปลูกที่ไหน กินที่นั่น ไม่ต้องมองไกล ตะวันออกกลางเริ่มจะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตอาหารเอง ซาอุดิอารเบียส่งคนมาเรียนรู้การปลูกข้าวในบ้านเรา ในเวียดนาม และอินโดนีเซีย แถมมีการทำ MOU กับเวียดนามในเรื่องการผลิตข้าวเพื่อขายในตะวันออกกลาง

การที่ประชากรทิ้งชนบทมารวมตัวอยู่กันในเมือง หากมองในแง่การใช้พลังงาน ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกครับ เพราะเมืองเป็นที่ๆ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าชนบท คนที่อยู่ในชนบทนั้น จะซื้ออะไรที ขับรถไม่รู้กี่กิโล การส่งพลังงานไปให้ใช้ การทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อย ก็เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า ผิดกับเมือง การเดินทางไปไหนมาไหน หากใช้ระบบคมนาคมสาธารณะ จะเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากๆ ที่สำคัญเราต้องส่งเสริมให้ประชากรที่อยู่ชานเมือง ย้ายเข้ามาอยู่กลางเมืองให้มากขึ้น ซึ่งจะลดการขับรถเข้ามาทำงานในเมือง

เมื่อสังคมเมืองเป็นแนวโน้มของยุคหน้า เกษตรกรรมในที่ร่มก็จะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การมีเทคโนโลยีนี้เป็นเรื่องจำเป็น นี่คือเหตุผลที่ทางกลุ่มวิจัยของผมได้เริ่มเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้ครับ โดยการเริ่มไปพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกลางแจ้งก่อน จากนั้นจะค่อยๆ เขยิบขั้นของพัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ จนไปถึงเทคโนโลยีสำหรับเกษตรในร่มครับ

ในตอนต่อๆ ไป ผมจะค่อยๆ นำประเด็นต่างๆ มาทยอยเล่าให้ฟังนะครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. พิมพ์ผิดไปนิดนึงครับ ควรเป็นว่าในชนบทเป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่นน้อย ครับ

    การนำคนเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจุดๆย่อมดี แต่ว่าถ้ามาอยู่กันหนาแน่นมากเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน เพราะจะทำให้แนวคิดที่ว่าเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นลดไปได้ โดยเฉพาะการขนส่ง คมนาคมสาธารณะในบ้านเรายังไม่มีการพัฒนาที่ดีพอ การจารจรที่ติดขัด ก่อให้เกิดมลภาวะที่ไม่จำเป็นขึ้น ควรให้อยู่หนาแน่นแบบพอดีๆ ซึ่งการบริหารจุดนี้ทำได้ยากมากเพราะคนไม่สามารถคุมให้อยู่ที่ใดที่หนึ่งได้

    ส่วนแนวคิดการปฎิรูปการเกษตรเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ ได้แก้ไขแล้วครับ
    ตอนนี้ในอังกฤษเริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก มีการเสนอกฎหมายให้เก็บภาษีผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนอยากย้ายออกจากเมืองไปอยู่ในชนบท ....

    ตอบลบ