03 เมษายน 2553

The Second Brain - สมองที่สอง (ตอนที่ 2)


สมองที่สองของคนเราไม่ได้อยู่ในกระโหลก แต่อยู่ในท้อง ตลอดแนวของเส้นทางเดินอาหารที่มีความยาวถึง 9 เมตรนั้น มีเซลล์ประสาทฝังตัวอยู่ถึง 100 ล้านเซลล์ เซลล์ประสาทเหล่านั้นทำหน้าที่หลากหลาย เพื่อควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร พวกมันทำงานอย่างอิสระโดยไม่ต้องอาศัยสมองที่หนึ่งเลย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สมองที่สองจะเป็นอิสระจากสมองที่หนึ่ง มันก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ อาการที่ไม่สบายของสมองที่หนึ่ง จะแสดงออกต่อสมองที่สอง หรือในทางกลับกันก็ได้ โรคหลายชนิดที่เกิดกับระบบทางเดินอาหารเช่น กรดไหลย้อน อาจเกิดจากความเครียดของสมองที่หนึ่ง แล้วไปแสดงออกที่สมองที่สอง นักวิทยาศาสตร์พบว่า การให้ยาเพื่อรักษาโรคสมองที่หนึ่งนั้นเอง ได้ไปมีผลต่อสมองที่สองด้วย เนื่องมาจากที่สมองที่สองนั้น มีการใช้สารสื่อประสาทชนิดเดียวกับสมองที่หนึ่งมากกว่า 30 ชนิดเลย ในขณะเดียวกัน ภาวะของสุขภาพของทางเดินอาหาร ก็ไปมีผลต่อสมองที่หนึ่งด้วย การรักษาสุขภาวะของทางเดินอาหารให้ดี ก็จะทำให้สุขภาพของสมองที่หนึ่งดีด้วย มีรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิจัยเมื่อปีที่แล้ว (2009) (รายละเอียดเต็มเพื่อการอ้างอิง Lebouvier T, Chaumette T, Paillusson S, Duyckaerts C, Bruley des Varannes S, Neunlist M, Derkinderen P., "The second brain and Parkinson's disease", European Journal of Neuroscience", 2009, vol. 30, pp. 735-741) ที่ระบุว่า โรคพาร์กินสันอาจจะมีจุดเริ่มจากการผิดปกติในสมองที่สองก่อน แล้วค่อยลุกลามเข้าไปในสมองที่หนึ่ง

คราวนี้เข้าใจแล้วไหมครับว่า ทานของหนักๆ ก่อนนอน ทำไมถึงนอนไม่ค่อยหลับ ... ก่อนนอนก็คุยกับสมองที่สองหน่อยนะครับ บอกเขาว่าเราก็เป็นห่วงเป็นใยเขาอยู่เหมือนกัน....

(ภาพซ้าย - สมองที่สองของคนเราอยู่หลังพุงเรานี่เอง ....)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น