04 มิถุนายน 2552

The Science of Forgetting - ศาสตร์แห่งการลืม (ตอนที่ 2)


เมื่อคืนก่อนผมนอนไม่ค่อยหลับเลยครับ ไม่ใช่เพราะว่าคิดถึงใคร หรือเป็นกังวลเรื่องอะไร แต่เพราะไปดื่มกาแฟร้านหอมกรุ่นที่ NECTEC มา กาแฟร้านนี้อร่อยมากและรสชาติเข้มข้นมากเลยครับ แต่ถึงแม้จะได้นอนตอนตี 1 ตื่นตอนตี 5 ผมก็ค่อนข้างสดชื่น เพราะมีความรู้สึกว่าได้หลับจริงๆ

ทำไมคนที่นอนนานกว่า บางทีถึงรู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่มหรือไม่ได้นอน นักวิทยาศาสตร์พบว่าในขณะที่เรานอนหลับนั้น สมองเราไม่ได้หลับไปด้วยนะครับ นานมาแล้วที่เราคิดว่าการนอนคือการทำให้สมองได้พักผ่อน แต่จริงๆแล้ว นักวิจัยได้พบว่าในขณะที่เรานอนหลับอยู่นั้น สมองเราบางทีก็ทำงานมากกว่าตอนตื่นอยู่เสียอีก ซึ่งการที่สมองทำเช่นนั้นมีส่วนช่วยทำให้เราเรียนรู้อะไรได้ดีขึ้น การทำงานของสมองในขณะที่ร่างกายส่วนอื่นงดใช้พลังงาน จะช่วยให้เกิดความจำได้ดี และเซลล์สมองจะสร้างเครือข่ายใยประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการทดลองเกี่ยวกับความสามารถในการจำหลายต่อหลายครั้ง ที่พิสูจน์ว่าผลการทดสอบดีขึ้นหลังอาสาสมัครเหล่านั้นได้หลับยาวสักหน่อย ซึ่งแสดงว่ามีการทำงานของสมองเพื่อภารกิจนั้นในระหว่างหลับโดยไม่รู้ตัว ตัวผมเองก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้ครับ คือพยายามคิดแก้ปัญหาเรื่องต่างๆก่อนนอน พอตื่นมาก็พบคำตอบในหัวทันทีเลยครับ ผลการวิจัยที่ผ่านมานั้นชี้ว่าการนอนหลับทำให้เกิดความจำดีขึ้น แถมยังช่วยทำให้สมองโยงใยเรื่องราวต่างๆ ของความจำใหม่ๆ ให้เข้ากับความจำเก่าๆ ได้ ดังนั้นการนอน ไม่ใช่เรื่องของการหลับนิ่ง แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังจะบอกว่า เป้าหมายของการนอนคือ การทำให้สมองของเราได้ทำงานของมันอย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไมนักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาเรื่องนี้ล่ะครับ เพราะว่าคนเรานั้นใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอนหลับ ถ้าเราอายุ 60 ปี ก็หมายความว่าที่ผ่านมา เราใช้เวลากับการนอนไปประมาณ 20 ปี แล้วเราจะไม่อยากเข้าใจเลยหรือว่าในช่วง 20 ปีนั้น สมองเราทำอะไร .......

วันหลังคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ .....