23 มิถุนายน 2552

Science of Fear - วิทยาศาสตร์ของความกลัว (ตอนที่ 1)


เมื่อครั้งที่เจ้าฟ้านเรศ หรือ องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงยกทัพไปนำครอบครัวคนไทย ที่เคยถูกพระเจ้าบุเรงนองกวาดต้อนไปอยู่เมืองหงสาวดีตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เพื่อพากลับประเทศไทย โดยข้ามลำน้ำสะโตงจากฝั่งเมืองแครง เพื่อกลับเข้ามาทางฝั่งไทยนั้น มังสามเกียดหรือสมเด็จพระมหาอุปราช ได้ยกทัพเข้ารุกไล่ตามมา โดยได้ให้สุรกรรมาเป็นทัพหน้าบุกตามมาทันที่ฝั่งแม่น้ำสะโตง ในครานั้น ทัพไทยได้ข้ามแม่น้ำมาแล้ว ในขณะที่พม่ายังอยู่อีกฝั่งหนึ่ง องค์พระนเรศทรงเห็นว่าหากไม่หยุดทัพพม่าที่ฝั่งแม่น้ำนี้ ในที่สุดถึงแม้ขบวนของพระองค์จะพยายามถอยหนีให้เร็วก่อนที่พม่าจะข้ามน้ำมาได้ ด้วยเหตุที่ขบวนทัพของไทยมีพลเรือนเสียเป็นส่วนใหญ่ ย่อมจะไม่สามารถใช้ความเร็วในการเคลื่อนทัพได้อย่างเต็มที่ ในที่สุดทัพของพม่าก็จักตามมาทัน พลันนั้นพระองค์จึงทรงประทับพระแสงปืนที่มีขนาดความยาวลำกล้องถึง 2 เมตรกว่า บรรจุดินปืนและกระสุน ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากการกู้ชาติครั้งนี้จะเป็นผลสำเร็จ ก็ขอให้กระสุนนี้จงถูกแม่ทัพของพม่าด้วยเถิด ทั้งทหารไทยและมอญ ต่างก็ไม่มีใครคิดว่ากระสุนจะข้ามแม่น้ำไปได้ ด้วยแม่น้ำสะโตงนี้กว้างมาก ผมเคยข้ามแม่น้ำสะโตงนี้ ณ จุดที่เชื่อว่าทัพของพระองค์ท่านเคยผ่านมาด้วยครับ ที่ต้องข้ามแม่น้ำนี้ก็เพื่อเดินทางไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวน ที่แคว้นมอญ แม่น้ำนี้กว้างจริงๆ ครับ

พระแสงปืนที่องค์พระนเรศทรงใช้หยุดทัพพม่านั้น รู้จักกันดีในกาลต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" ด้วยเหตุที่กระสุนของพระแสงนี้ได้ข้ามลำน้ำสะโตงที่มีความกว้างมากกว่าครึ่งกิโลเมตร มาถูกสุรกรรมาแม่ทัพหน้าของหงสาวดี ขาดใจตายตกจากคอช้าง อาวุธที่พระองค์ทรงใช้คือพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงนี้ เป็นศาสตราวุธที่จัดว่ามีอานุภาพมากในสมัยนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาวุธที่องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ในครั้งนั้นที่ทำให้หยุดทัพพม่าได้ก็คือ "ความกลัว" ต่างหาก พระองค์ท่านทรงพระปรีชาในการนำ "ความกลัว" มาใช้ในการทหารเป็นอย่างมาก กระสุนนัดที่ทำให้สุกรรมตายตกจากคอช้าง สร้างความหวาดหวั่นให้กำลังทหารฝ่ายพม่า ถึงกับยอมถอยทัพกลับไม่รุกไล่ตามมา พระองค์ทรงใช้อาวุธทางจิตวิทยาชนิดนี้ในการรบครั้งต่อๆมา จนกระทั่งถึงสงครามยุทธหัตถี

เพนทากอนกำลังมีความสนใจในเรื่องของ "ความกลัว" และกำลังสนับสนุนการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของความกลัวให้ลึกซึ้ง เพนทากอนต้องการไขปริศนาของกลไกการเกิดความกลัวว่าเกิดขึ้นอย่างไร ในสมัยองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระองค์ต้องอาศัยเครื่องมือสร้างความกลัวแก่ทัพพม่าด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามแต่เวลาและสถานที่ แต่เพนทากอนกำลังจะสร้างอาวุธความกลัว ซึ่งมันจะสื่อสารกับสมองของทหารข้าศึกโดยตรง ซึ่งจะทำให้ข้าศึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผล เช่นเดียวกับทัพพม่าที่แตกกระเจิงหลังสุรกรรมาโดนกระสุนเปลี่ยนโชคชะตานัดนั้น ที่ยิงจากพระแสงปืนต้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันหลังผมจะมาเล่าต่อครับว่าอาวุธสร้างความกลัวที่ว่านั้นคืออะไร .......