24 มิถุนายน 2552

Science of Fear - วิทยาศาสตร์ของความกลัว (ตอนที่ 2)


เรามักจะเคยได้ยินว่า "น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ" แต่กลับมีศึกสงครามนับจำนวนครั้งไม่ถ้วน ที่ฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าสามารถมีชัยชนะเหนือข้าศึกที่มีกำลังมากกว่าหลายเท่าตัวได้ เพราะใช้ "ปัญญา" ในการต่อสู้ ตลอดรัชสมัยขององค์พระนเรศ หรือ ที่เรารู้จักกันดีว่าในนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระองค์สามารถนำทัพเอาชนะข้าศึกที่มีกำลังพลมากกว่าหลายเท่าตัวอยู่เสมอๆ ยุทธวิธีที่พระองค์ใช้บ่อยๆก็คือ สร้าง "ความกลัว" ให้เกิดขึ้นแก่ทหารของฝ่ายตรงข้าม

เพนทากอนกำลังสนับสนุนการวิจัยกลไกเกี่ยวกับความกลัวของมนุษย์ในระดับโมเลกุล ในการศึกษาแมลงพบว่า เมื่อพวกมันถูกโจมตีด้วยนักล่า มันจะปล่อยฟีโรโมน (Alarm Phreromone) ออกมาซึ่งจะไปเตือนตัวอื่นที่ได้รับกลิ่นนี้ ให้รีบหนีอออกจากพื้นที่นั้น สำหรับมนุษย์นั้น จากการศึกษาสารสเตียรอยด์จากตัวอย่างเหงื่อ ปัสสาวะ น้ำลาย และเลือด ของกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลังจากการเล่นดิ่งพสุธาครั้งแรก พบว่ามีการปล่อยสารพวกนี้ค่อนข้างมากในผู้ชาย แต่กลับไม่ค่อยพบในผู้หญิง

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการทดลองคล้ายๆกัน โดยให้กลุ่มตัวอย่างดูภาพยนตร์สยองขวัญ แล้วเก็บเหงื่อจากรักแร้มาตรวจสอบ พบว่ามีการหลั่งสารหลายชนิดในกลุ่มที่มีการชมภาพยนตร์สยองขวัญ มากกว่าพวกที่ชมสารคดี

เพนทากอนจึงต้องการทำเซ็นเซอร์ตรวจสอบความกลัว โดยพยายามหาสารเคมีที่หลั่งออกมาเมื่อมีความกลัว โดยเฉพาะฟีโรโมนซึ่งมันจะมีความจำเพาะเจาะจงมากกว่าสารอินทรีย์ทั่วไป และมีความสามารถในการระเหยไปได้ไกล เบื้องต้นเพนทากอนอยากจะใช้เซ็นเซอร์เหล่านี้กับชุดทหาร เพื่อมอนิเตอร์สถานภาพทางอารมณ์ ความเครียด และสุขภาพ ของหน่วยรบในระหว่างปฏิบัติการ โดยเฉพาะหากทำแบบเรียลไทม์ คือ ส่งข้อมูลมาขึ้นหน้าจอภาพของผู้บัญชาการได้ยิ่งดีเข้าไปใหญ่


ในปี พ.ศ. 2129 พระเจ้าหงสาวดียกทัพใหญ่หมายจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ เนื่องด้วยไทยเรามีกำลังน้อยกว่าพม่ามาก องค์พระนเรศจึงทรงพาทหารออกปล้นค่ายของพม่าในเวลากลางคืนอยู่เนืองเนือง สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ทหารพม่าเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ทหารไทยด้วยการคาบพระแสงดาบ นำทหารปีนบันไดขึ้นไปเพื่อจะบุกตีค่ายของพม่าด้วยพระองค์เอง พระแสงดาบนั้นได้ถูกขนานนามในกาลต่อมาว่า "พระแสงดาบคาบค่าย" ในที่สุดหลังจากล้อมกรุงศรีอยุธยาได้ 4 เดือน พม่าก็จำต้องถอนทัพกลับ