21 ตุลาคม 2551

ยอดเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้า (ตอนที่ 3) - เมื่อพันธุกรรรมกลายเป็นสินค้าออนไลน์


วันนี้มาเล่าให้ฟังต่อนะครับ ถึงยอดเทคโนโลยีที่วารสาร Nature ขึ้นลิสต์ไว้ว่าจะเป็นที่กล่าวขานถึง หรือ มีผลกระทบสูงในอีก 10 ปีข้างหน้า .......

Personal Genomics กำลังจะเป็นเทคโนโลยีใหม่มาแรงที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ โดยผู้ที่กำลังจะนำเทคโนโลยีนี้มาสู่เรากลับไม่ใช่บริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ การแพทย์ ครับ แต่กลับเป็นบริษัท Google ครับ นี่แหล่ะครับผมถึงพูดบ่อยๆว่า การทำงานข้ามศาสตร์มีความสำคัญ นักเทคโนโลยีชีวภาพส่วนใหญ่ชอบมุดตัวใน Lab ไม่ค่อยได้คุยกับชาวบ้าน ต่างจากนัก IT ที่คุยเก่ง ทำงานเป็นทีมเก่ง และทำงานข้ามศาสตร์ข้ามสาขาเก่ง ในที่สุดก็เป็นนัก IT ที่นำเอาเทคโนโลยีเกิดใหม่นี้ไปเผยแพร่ และกำลังจะทำเงินทำทองในอีก 10 ปีข้างหน้าครับ ......

เมื่อเดือนธันวาคม 2550 บริษัท 23andMe ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย Google ได้เปิดตัวสินค้าใหม่ที่จะนำโลกของจีโนมสารสนเทศแบบส่วนตัว มาสู่สาธารณชน เป็นชุด Kit ที่ลูกค้าที่สนใจจะถุยน้ำลายลงไปในหลอด แล้วส่ง FedEx กลับไปที่บริษัท จากนั้นบริษัทจะทำการตรวจวิเคราะห์ DNA ของลูกค้าผู้นั้น ในเวลา 2-3 สัปดาห์ ผลการตรวจ DNA จะถูกส่งมาทาง e-mail สินค้าตัวนี้ตอนเปิดตัวมีราคาสูงถึง 1000 เหรียญสหรัฐ แต่เพราะคงามฮิตติดตลาด ทำให้ราคาได้ลดลงมาอยู่ที่ 399 เหรียญเมื่อเดือนกันยายน 2551 นี้เองครับ

สิ่งที่ Personal Genomics ของ Google จะบอกเราก็เช่น เรามีขี้หูแบบเปียกหรือแห้ง เรามียีนที่ช่วยให้หน้าไม่แดงเวลาดื่มไวน์ไหม จมูกของเราดมกลิ่นได้ดีหรือไม่ค่อยได้เรื่อง เรามียีนเป็นคนตัวสูงหรือเปล่า สีของตาเป็นสีอะไร แล้วตอนแก่ๆ เราจะเป็นโรคปวดหลังหรือเปล่า จะมีโอกาสเป็นเบาหวานมากน้อยแค่ไหน มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งชนิดใดได้บ้าง มียีนต้านทานโรคเอดส์บ้างมั้ย แล้วมาลาเรียล่ะมีโอกาสเป็นมั้ย มียีนที่ช่วยทางด้านความจำหรือเปล่า สำหรับผมแล้ว สนนราคา 399 เหรียญสหรัฐเพื่อรู้เกี่ยวกับตัวเราได้มากมายเช่นนี้ คุ้มค่ามากทีเดียวเชียวครับ ยิ่งกว่านั้นเรายังจะได้ข้อมูลย้อนกลับไปดูบรรพบุรุษว่ามาจากเชื้อชาติใด เช่น ทางแม่มาจากยุโรปหรือเอเชียเหนือ ทางพ่อมียีนทางชนชาติใด ยิ่งถ้าเราแชร์แลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนนี้เทียบกับญาติๆ ของเราดู ก็จะยิ่งสนุก เพราะเหมือนวิ่งย้อนไปในกาลเวลา ตามหาญาติกาในอตีตา ได้เลยครับ

ที่สำคัญทาง Google ได้เปิดชุมชนคนแชร์พันธุกรรมขึ้นใน Web ด้วย ลูกค้าที่ใช้บริการนี้สามารถที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลของตนเอง ที่พอใจจะให้คนอื่นๆได้ใช้ ทำให้ข้อมูล Genetics กลายเป็นสื่อทางสังคมออนไลน์ไปแล้วครับ ผู้คนแวะเข้ามาทักทายพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องที่เกี่ยวกับพันธุกรรมของตน บางคนก็มาหาญาติในอดีต บางคนก็มาหาข้อมูลใครเป็นโรคนู้นโรคนี้บ้าง หมดยุคที่หมอมากำหนดชีวิตผู้คนแล้วครับ คนธรรมดาอย่างเราก็มีสิทธิ์รู้ว่าจะเกิดโรคอะไรแล้วหาทางรักษาเองได้
ก่อนจบผมขอเฉลยความลับในความสำเร็จของ Google ครับ เพราะทั้ง Larry Page และ Sergey Brin เจ้าของ Google นั้นมีเมียเป็นนักชีววิทยา นี่แหล่ะครับเรียกว่าแต่งงานข้ามศาสตร์จริงๆ ใครอยากประสบความสำเร็จแบบเขาทั้งคู่ ก็ลองๆ จีบนักชีววิทยาใกล้ๆตัวดูสิครับ .......
(ภาพบน: Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้ง Google สวมเสื้อ Lab เปิดตัวสินค้าที่จะนำโลกของ Genomics มาสู่ชาวบ้านร้านตลาด อย่างที่เคยนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาสู่คนเดินถนนอย่างเรา ผ่าน Google Earth)