17 ตุลาคม 2551

Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 2)


สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผมเพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่นครับ นอนแอ้งแม้งอยู่บ้าน 1 วัน พอมีแรงมาอัพเดตเรื่องราวที่ยังคั่งค้าง เกี่ยวกับ Games Science ที่ผมได้ไปดูมาที่ Department of Games Science ของ Tokyo Polytechnic University (TPU) ซึ่งภาควิชานี้สอนในระดับปริญญาตรี เพื่อผลิตนักออกแบบการ์ตูน อะนิเมชัน และเกมส์ต่างๆ ครับ เป็นหลักสูตร 5 ปี ที่นี่เขามีสตูดิโอเพื่อบันทึกท่าทางการเดิน กระโดดโลดเต้น การเต้น การเคลื่อนไหว ของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ของคน เพื่อนำมาทำเป็นข้อมูลดิจิตัล เพื่อใส่เข้าไปในอะนิเมชันและเกมส์ได้ เขามีห้องสำหรับเล่มเกมส์วางแผน พวกบอร์ดเกมส์ทั้งหลาย โดยคอร์สของบอร์ดเกมส์นี้ เด็กๆก็จะต้องมาฝึกนั่งเล่นกันทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อผ่านวิชานี้ โดยเด็กๆจะได้ฝึกการวางแผน เรื่องของตรรกะต่างๆในเกมส์ และ กลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างวิธีการคิดแท็กติกต่างๆแก่เด็กนักศึกษา เพื่อสามารถไปออกแบบเกมส์แบบดิจิตัลได้ ผมได้เข้าไปดูห้องที่มีเครื่องเกมส์ตู้เหมือนในห้างสรรพสินค้า วางเรียงกันเต็มไปหมด ทีแรกนึกว่าเป็นห้องให้เด็กเล่นเกมส์คลายเครียด แต่อาจารย์ที่พาชมบอกว่า ห้องนี้เป็นห้องสำหรับให้นักศึกษาคุ้นเคยกับบรรยากาศที่เกมส์ตู้จะไปอยู่ และเพื่อให้นักศึกษาได้เล่นเกมส์ที่เป็นที่นิยม เพื่อหาจุดอ่อนและจุดแข็งของเกมส์แต่ละชนิด ต่อไปเขาพาผมไปเดินชมห้องวิดีโอเกมส์ ซึ่งมีจอทีวี LCD ขนาดใหญ่ เรียงรายเต็มไปหมด ในห้องนี้จะมีเกมส์ของ Playstation และ Nintendo นักศึกษาจะมาใช้ห้องนี้เพื่อศึกษาเกมส์ประเภทเล่นกับ TV โดยจะมาจับกลุ่มวิเคราะห์เกมส์ หรือทำการบ้านที่อาจารย์มอบหมายมา บางกลุ่มก็เล่นเกมส์ประเภท Multiplayer สู้กัน แล้วก็ถกเถียงวิเคราะห์กันอย่างเคร่งเครียด (แต่ใบหน้ายิ้มที่เห็นพวกเราเข้ามาดู) ผมจะมาเล่าต่ออีกนะครับ กลัวจะยาวไปสำหรับตอนนี้ เรื่องของการเกิด Convergence ของ Art กับ Science ยังมีต่ออีกครับ เพราะนี่คือกระบวนทัศน์ใหม่ของทศวรรษต่อไปจริงๆ ...............