24 ตุลาคม 2551

Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 3)

















เล่าต่อนะครับ เรื่องที่ผมได้ไปดูงานทางด้าน Entertainment Science ที่ Department of Games Science ของ Tokyo Polytechnic University (TPU) หลังจากได้แวะดูสตูดิโอ ห้องเล่นเกมส์บอร์ด ห้องเล่นเกมส์ตู้ ห้องเล่นวิดีโอเกมส์ เขาก็พาไปดูห้องเขียนโปรแกรมเกมส์ ซึ่งก็เหมือนห้องคอมพิวเตอร์ทั่วๆไป เพียงแต่จะมีระบบคอมพิวเตอร์กริดความเร็วสูง เพื่อทำงานซิมูเลชั่นที่ต้องการคอมพิวเตอร์ความสมรรถะสูง นักศึกษาในปีสูงๆ จะมานั่งโปรแกรมเพื่อสร้างเกมส์ในห้องนี้ครับ จากนั้นเขาก็พาไปดู Human Product Design Center ซึ่งเป็นที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นี่มีห้องสำหรับทำงานสร้าง prototype ซึ่งนักศึกษาจะใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องกลึง เครื่องตัด และพวก Rapid Prototyping Machine หรือ CNC ผลิตสิ่งของต้นแบบที่พวกเขาคิดไว้ สถาบันหรือภาควิชาเกมส์ของที่นี่จึงมีครบถ้วนตั้งแต่ต้นนำ ไปจนถึงปลายน้ำเลยครับ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ผมไม่ได้มีโอกาสไปดู เช่น เรื่องของ Manga หรือ การออกแบบการ์ตูน จะเห็นได้ว่า Games Science เป็นการผสมผสานความรู้ทางด้าน คอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้ที่นี่มีจุดเด่นในฐานะตักศิลาของการผลิตบุคลากรด้านเกมส์ของโลกเลยครับ การได้ไปเยี่ยมชมภาควิชาที่มีคนออกแบบเกมส์ Pac-Man อันโด่งดังทำงานเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่นี่ จึงนับเป็นความภาคภูมิใจจริงๆ

อุตสาหกรรมเกมส์วิดิโอของโลกนั้นมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยเกือบ 2 เท่าครับ นักวิเคราะห์เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้มีความเข้มแข็งมาก และไม่สะทกสะท้านต่อปัญหาเศรษฐกิจ หรือ พิษแฮมเบอร์เกอร์ ถึงแม้จะเกิดอะไรขึ้น ผู้คนก็ยังเล่นเกมส์ แต่ปัญหาที่ท้าทายนักออกแบบเกมส์ก็คือ ทำยังไงถึงจะทำให้ผู้หญิงเล่นและจ่ายเงินเพื่อเล่นเกมส์ เพราะคอเกมส์ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ชาย ปัญหานี้มีมูลค่านับแสนล้านบาทเลยครับ ถ้าใครแก้ได้ และนี่เองครับคืองานของ Games Science หรือ วิทยาศาสตร์ของเกมส์ !!!!!