12 สิงหาคม 2551

Interactive Fabrics - อาภรณ์อันตรกริยา (ตอนที่ 2)


ในขณะที่คลัสเตอร์สิ่งทอของบ้านเรา มุ่งไปที่การเพิ่มฟังก์ชันด้านการทำความสะอาดตัวเอง (เช่น การใส่อนุภาค Silver Nano หรือ ไททาเนีย เข้าไปในใยผ้า) ให้แก่สิ่งทอเพื่อจะเพิ่มมูลค่าของมัน ในต่างประเทศนั้น เขากำลังกระโดดไปอีกขั้นแล้วครับ นั่นคือการใส่ฟังก์ชั่นด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ การประมวลผล เข้าไปในใยผ้า เกิดศาสตร์ใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า Interactive Fabrics หรือ Textronics หรือ Textile Computing เท่าที่ผมสืบๆมา บ้านเรายังไม่มีการขยับในเรื่องนี้เลยครับ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ใหญ่พอดู การทำ Textile Computing นี่เป็นศาสตร์แบบ Multidisciplinary หรือ สหสาขาวิชาครับ เพราะต้องใช้ความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์เส้นใย พอลิเมอร์ เคมี คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ด้านการออกแบบ และที่สำคัญคือ แฟชั่น ด้วยครับ


รูปที่ผมเอามาแปะไว้ด้านบนนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทฟิลิปส์ ที่เขาจะนำออกโชว์ตัวในงาน IFA Consumer Electronics ที่เบอร์ลิน ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 3 กันยายน 2551 นี้ ผมนำออกมาให้ท่านผู้อ่านได้ชมก่อนเลยครับ โดยไม่ต้องไปถึงเยอรมัน ฟิลิปส์เรียกผลิตภัณฑ์แบบนี้ว่า Photonic Fabric ซึ่งสร้างโดยการถักทอ LED เข้าไปในเนื้อผ้า ฟิลิปส์จะนำเอาหมอนอันตรกริยาที่สามารถตอบสนองต่อผู้ใช้ได้ รวมไปถึงความสามารถในการส่ง SMS ด้วยการเอานิ้วเขียนข้อความบนหมอน พวกเราคงเคยได้เห็นเสื้อผ้าที่เปล่งแสงได้ ซึ่งเขาเคยนำมาโชว์ในเมืองไทย แนวทางการพัฒนาอาภรณ์อันตรกริยายังไปต่อได้อีกเยอะแยะเลยครับ ว่างๆ ผมจะนำเรื่องนี้มาเล่าต่อนะครับ ......