30 มกราคม 2553

Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 10)


เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว องค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบว่า พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดา พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัย มิให้พระภิกษุสงฆ์ตัดถอนต้นไม้โดยไม่มีเหตุอันควร ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ใช้ต้นไม้เป็นสถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจความน่าทึ่งของต้นไม้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ที่ผ่านมา ต้นไม้ถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แสนธรรมดา ไม่มีเรื่องของความฉลาดเลย แต่หลักฐานใหม่ๆ กลับปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ต้นไม้อาจมีระบบสื่อสาร และระบบทางสังคม ที่ใช้ช่องทางที่แตกต่างจากพวกเราอย่างสิ้นเชิง ดังที่ผมได้นำมาเล่าให้ฟังในบทความเป็นตอนๆ ก่อนหน้านี้

ความน่าทึ่งเกี่ยวกับพืชในตอนนี้ที่ผมอยากนำมาเล่าให้ฟังก็คือ "ต้นสน" ซึ่งเป็นพืชที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า 300 ล้านปี มันผ่านช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนตัวของทวีปเมื่อ 250 ล้านปีที่แล้ว จากนั้นได้ผ่านมาอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ จนกระทั่งเกิดการชนของอุกกาบาตลูกใหญ่ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ทั้งหมด มันก็ยังอยู่รอดมาได้ สนเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ได้ทั่วโลก เฉพาะในแคว้นแยมแลนด์ (Jamtland) ของสวีเดนที่เดียว ก็มีมวลรวมของต้นสนมากกว่าน้ำหนักของมนุษย์รวมกันทั้งโลกอีกครับ

สิ่งที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่งของสนก็คือ มันมีดีเอ็นเอ (DNA) ยาวกว่ามนุษย์ถึง 7 เท่า ซึ่งป่านนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าในโครโมโซม 12 คู่ที่เก็บดีเอ็นเอเหล่านั้น มียีนอยู่กี่ตัว อาจจะเพราะด้วยขนาดอันมหึมาของรหัสพันธุกรรมของมัน จึงยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มไหนอยากจะไขปริศนานี้ เพราะอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับความรู้ในเรื่องนี้

แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทางรัฐบาลสวีเดนได้ตัดสินใจที่จะให้ทุน เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของสน ทั้งนี้เพราะ สน เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของสวีเดน เปรียบเช่น ข้าว ของเมืองไทยเราเลยครับ ศาสตราจารย์โอเว นิลสัน (Professor Ove Nilsson) ซึ่งเป็นประธานของโครงการนี้ได้กล่าวว่า "การมีแผนที่พันธุกรรมอย่างสมบูรณ์ของต้นสน จะปฏิวัติงานวิจัยเกี่ยวกับสนของประเทศสวีเดนเลยเชียวครับ และมันจะทำให้ต่อไปภายภาคหน้า เราจะนำต้นสนมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ผมเคยเขียนเรื่อง นาโนวนศาสตร์ (Nanoforestry) และเคยพูดไว้ว่า ต้นไม้กำลังจะกลายมาเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ ที่จะมาแทนปิโตรเคมีในอนาคตครับ .....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น