21 พฤศจิกายน 2552

Body Electronics - อิเล็กทรอนิกส์บนผิวกายมนุษย์ (ตอนที่ 1)


เมื่อครั้งที่ผมกลับมาจากต่างประเทศ และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้นำร่องใช้โทรศัพท์มือถือเป็นคนแรกของภาควิชา ในสมัยนั้น มักมีการพูดติดตลกว่า ถ้าซื้อโทรศัพท์มือถือก็ให้หามอเตอร์ไซค์เอาไว้คันหนึ่งด้วย เอาไว้ขี่หาคลื่น มือถือสมัยนั้นอันใหญ่มาก ต้องเหน็บไว้ที่เอว เวลาพกไปไหนมาไหนคนก็จะเห็นหมด ผมมักถูกแซวว่า ซื้อโทรศัพท์มือถือมาใช้ ก็ต้องหาคนมาโทรเข้าด้วยสิ ผมเคยเปรยๆ กับเพื่อนๆ ที่ทำงานว่า "คอยดูนะ อีกหน่อยคนจะเลิกใช้โทรศัพท์มีสาย (land line) ทุกคนจะใช้มือถือกันหมด บางคนใช้มากกว่า 1 เครื่องด้วยซ้ำไป"

จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านั้น โทรศัพท์มือถือถูกเรียกว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะมันมีขนาดใหญ่มาก ขนาดเท่ากับกระเป๋า size สัก A4 เลยครับ ซึ่งต้องหิ้วไปไหนมาไหน แต่ต่อมาขนาดมันเริ่มเล็กลงจนมีขนาดที่มือถือได้ ก็เลยเริ่มเรียกมือถือ แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนเราก็เริ่มรู้สึกว่ามันเกะกะ ยิ่งเวลาไปเที่ยวแล้วต้องพกอุปกรณ์ไปหลายตัว ทั้งโทรศัพท์มือถือ (2 เครื่อง) กล้องดิจิตอล จีพีเอส กล้องส่องทางไกล มันจะพะรุงพะรังมาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ พยายามที่จะบรรจุฟังก์ชันของกล้องดิจิตอล และ จีพีเอส เข้าไปในตัวเดียวกัน

หลังๆ นี้ ได้มีความพยายามนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปอยู่ในเสื้อผ้า ที่เรียกว่า Wearable Electronics หรือ อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ เราจะได้ไม่รู้สึกเป็นภาระที่ต้องหิ้วต้องถือ เพราะใช้วิธีการสวมใส่แทน ศาสตร์ทางด้านนี้บางทีก็เรียกว่า Textile Electronics (สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์) บางทีก็เรียก e-Garment (อาภรณ์อิเล็กทรอนิกส์) หรือ e-Fabrics ศาสตร์ทางด้านนี้มีการวิจัยกันมาพอควรแล้วครับ แต่มีศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่กำลังพัฒนาครับ คือ Implantable Electronics หรือ อิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังบนผิวหนังหรือในร่างกายได้ ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ เช่น โทรศัพท์ฝังในปาก เครื่องช่วยฟังฝังในหู ลิ้นหัวใจอิเล็กทรอนิกส์ จอภาพบนผิวหนัง แบตเตอรีจากเลือดมนุษย์ เป็นต้น ในงานประชุมวิชาการบางแห่งที่ผมเคยไปนั่งฟัง (ในต่างประเทศ) ก็มีคนมาเสนอผลงานการปลูกเซลล์ประสาทลงไปบนพอลิเมอร์นำไฟฟ้า โดยสามารถนำเอาสัญญาณจากเซลล์ประสาทมาใช้ประมวลผล ร่วมกับคอมพิวเตอร์ หรือ เอาสัญญาณจากเซลล์ประสาทมาขับเคลื่อนระบบกลไฟฟ้า (Mechatronics) ในช่วงหลังๆ นี้ผมสังเกตว่าประเทศที่สนใจเรื่องนี้มากเป็นพิเศษคือ สิงคโปร์ มีการประชุมแบบนี้จัดบ่อยๆ ที่สิงคโปร์ แล้วเขาก็ตีพิมพ์ผลงานทางด้านนี้ในวารสารวิชาการค่อนข้างถี่ ผมเดาเอาว่าเขากำลังคิดจะดึง Medical Hub (ศูนย์กลางการแพทย์) ไปจากบ้านเราในไม่ช้านี้ครับ

ผมจะเริ่มนำศาสตร์ทางด้านนี้มาเล่าให้ฟังเป็นตอนๆ นะครับ ......