29 พฤศจิกายน 2552

Materials Intelligence - วัสดุปัญญา (ตอนที่ 5)


เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เพื่อนๆ ของผมที่มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนการที่จะเปิดหลักสูตรวัสดุศาสตร์ (Materials Science) สำหรับระดับปริญญาโท และปริญญาเอก นตอนนั้นพวกเราคุยกันว่า หลักสูตรนี้จะมีจุดขายอย่างไร จะมีเอกลักษณ์อย่างไร และจะสู้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้หรือไม่ เพราะหลักสูตรวัสดุศาสตร์นี้มีมานานแล้วในประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดลทำช้ากว่าเขาตั้ง 20 ปีเลยเชียวครับ

ผมจึงเสนอว่า หลักสูตรที่พวกเราจะเปิดขึ้นนี้เราไม่ต้องไปแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศหรอก แต่เราควรข้ามช็อตไปแข่งกับสิงคโปร์ไปเลย เพราะเป็นที่รู้กันว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) นั้นลอกแบบมาจาก MIT ซึ่งเป็นตักศิลาของโลกทางด้านนี้ หลักสูตรวัสดุศาสตร์แบบใหม่ที่มหิดลนี้ เราจะใช้ชื่อว่า Materials Science and Engineering เพราะเราจะไม่เล่นกับวัสดุโง่ (Dumb Materials) อีกแล้ว แม้แต่วัสดุฉลาด (Smart Materials) ก็ยังเจ๋งไม่พอ แต่พวกเราจะต้องไปวิจัยวัสดุที่เหนือขั้นไปอีก เพื่อนๆผมถามว่าแล้วมันคืออะไร ? พอผมพูดคำว่า "วัสดุปัญญา ....ไงล่ะน้อง" คนขำกลิ้งกันเกือบทั้งห้อง รวมทั้งตัวผมเองด้วย เพราะจริงๆ แล้ว ผมก็พูดสนุกๆ ไปอย่างนั้นเอง ยังไม่คิดว่าเราจะมี "ปัญญา" ทำวัสดุแบบนั้นหรอกครับ ......

แต่ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษางานวิจัยของโลก ทางด้านชีววิทยาหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ชีวกลศาสตร์ วิศวกรรมเนื้อเยื่อ วิศวกรรมเซลล์ ประสาทวิศวกรรม ชีวพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น ทำให้นานวันผมยิ่งมั่นใจในการมาถึงของ "วัสดุปัญญา" ที่ว่านี้ วันนี้เรายิ่งแน่ใจในเส้นทางของหลักสูตร Materials Science and Engineering ว่าจะต้องเดินไปตามเส้นทางเพื่อค้นหาวัสดุปัญญาที่ว่านี้


วัสดุปัญญาเป็นเรื่องของการบูรณาการศาสตร์หลายๆ ด้านทั้งฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาของวัสดุ โดยเชื่อมโยงสมบัติเชิงรูปธรรม (Physical) ของมัน เข้ากับนามธรรม (ตรรกะ ความจำ เหตุผล เป็นต้น) ดังนั้นศาสตร์ทางด้านคณิตศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์ จึงเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้วัสดุยุคหน้า ทำตัวเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต


ในตอนหน้าผมจะมาพูดถึงวัสดุปัญญารูปแบบหนึ่งครับ นั่นคือวัสดุวิวัฒน์ (Evolvable Materials) ครับ ......