23 พฤศจิกายน 2552

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 6)


ตอนเด็กๆ ผมเคยครุ่นคิดว่า การที่คนเรารับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นการไปคร่าชีวิตผู้อื่น เพื่อที่จะนำเนื้อหนังของเขามาดำรงชีพนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นจะต้องเจ็บปวดทรมานก่อนสิ้นลม โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่อย่างวัว ผมเคยเห็นมันร้องไห้กับตาตนเอง มันทุรนทุรายเพื่อหนีไม่ให้คนมาจับมันขึ้นรถไปโรงฆ่าสัตว์

นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยการทรมานชีวิตสัตว์ กำลังขวนขวายทำวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการปลูกเนื้อสัตว์ (in vitro meat) ซึ่งจะเป็นการได้เนื้อสัตว์มาจากการเพาะเลี้ยง เฉกเช่นเดียวกับการปลูกพืชให้ได้ผลผลิต การปลูกเนื้อสัตว์สามารถทำได้ด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยที่มีความสามารถในการยืด-หดตัว ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะมีหลอดเลือดหล่อเลี้ยง และมีชั้นไขมันเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน องค์ประกอบง่ายๆ เหล่านี้ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า อีกไม่นาน เราน่าจะปลูกเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคในเชิงพาณิชย์ได้

การปลูกเซลล์กล้ามเนื้อจะทำในของเหลวที่มีสารอาหารต่างๆ เช่น กรดอะมิโน น้ำตาลกลูโคส เกลือแร่ และ ซีรั่มซึ่งเลียนแบบสารละลายของเลือด นักวิจัยต้องใช้วิธีกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อเหล่านั้นเติบโต เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย ที่ทำให้กล้ามเนื้อเจริญเติบโต ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้กันตอนนี้ คือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า และการใช้ฮอร์โมน ศาสตราจารย์ มาร์ค โพสต์ (Professor Mark Post) แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไอน์โฮเฟน (Eindhoven University of Technology) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเดิมท่านเป็นหมอทางด้านหลอดเลือดหัวใจ (Angiogenesis) แล้วพลิกผันมาเป็นนักวิจัยชั้นนำทางด้านการปลูกสัตว์ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งคอนซอร์เทียมขึ้นมา เพื่อจะเป็นผู้นำในการพัฒนาการปลูกเนื้อสัตว์ ซึ่งเนื้อไก่กำลังเป็นที่สนใจในสหภาพยุโรป ศาสตราจารย์ โพสต์ ท่านได้กล่าวว่า "ผมคิดว่าไม่น่าเกิน 10 ปี เราจะสามารถผลิตเนื้อไก่แบบนักเก็ตส์ ได้"


หากคำกล่าวของศาสตราจารย์ โพสต์ เป็นจริง อีก 10 ปี เราจะเริ่มเห็นการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป เนื้อไก่จริงจะเริ่มถูกกีดกัน ด้วยข้อหาทรมานสัตว์ ไก่ส่งออกของไทยที่มีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี (พ.ศ. 2551) คงจะหาอนาคตไม่เจอ ...........