21 มีนาคม 2552

Machine Vision - การมองเห็นประดิษฐ์ (ตอนที่ 1)


ศาสตร์ทางด้าน Artificial Sense หรือ สัมผัสประดิษฐ์ นั้นกำลังมาแรงครับ ศาสตร์ทางด้านนี้จะทำให้ความเป็นสิ่งมีชีวิตกับความเป็นจักรกล เขยิบเข้ามาใกล้ชิดกัน ศาสตร์นี้จะนำเอาความรู้สึกเข้าไปใส่ให้จักรกล และนำเอาความสามารถของจักรกลเข้าไปใส่ให้แก่สิ่งมีชีวิต การมองเห็นเป็นสัมผัสอย่างหนึ่งที่สิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์ต้องการมีเอาไว้เพื่อเอาตัวรอด และดำรงชีพ ตั๊กแตนมีระบบการมองเห็นที่ไวมากจนมันสามารถหลบหลีกการบินชนกันในฝูงที่มีความหนาแน่นเป็นล้านตัว นกอินทรีย์มีดวงตาที่สามารถซูมภาพจากระยะหลายกิโลเมตร การนำเอาระบบการมองเห็นไปใส่ให้แก่หุ่นยนต์ หรือ จักรกล (เช่น คอมพิวเตอร์) จึงเป็นความฝันของวิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimetic Engineering) ระบบการมองเห็นที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงแค่กล้องรับภาพเท่านั้นนะครับ แต่ต้องมีการวิเคราะห์และประมวลผลด้วยว่า ภาพนั้นคืออะไร มีความหมายอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจทำกิจกรรมต่างๆ ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ใช้กล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ ที่มีฟังก์ชันตรวจสอบการยิ้มของผู้ถูกถ่ายรูป โดยกล้องจะทำการกดชัตเตอร์ทันทีที่มีการยิ้มเกิดขึ้นบนใบหน้าของคนที่เรากำลังจะเก็บภาพ


ฟังก์ชันตรวจสอบการยิ้มที่ผมยกตัวอย่างนั้น ถือว่าเป็นระบบการมองเห็น Machine Vision อย่างง่ายๆ นะครับ เพราะจริงๆ แล้ว เทคโนโลยี Machine Vision ยังมีคุณูปการมีมากมาย มีโอกาสและความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานอีกมากมายเลยล่ะครับ บริษัท Omron ในประเทศญี่ปุ่นได้ออกวางจำหน่ายระบบตรวจสอบการยิ้ม เพื่อนำไปตรวจสอบการยิ้มของพนักงานขายของตามห้างร้านต่างๆ ว่ามีการยิ้มกับลูกค้าเพียงพอหรือไม่ บริษัท Fujitaka ในประเทศญี่ปุ่นได้ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบใบหน้าของผู้ที่จะมาหยอดเหรียญซื้อบุหรี่ที่ตู้ว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากเครื่องมองว่าคนที่มาซื้อเป็นเด็ก มันก็จะไม่ขายให้ ซึ่งจากการทดสอบนั้นพบว่าเครื่องขายบุหรี่อัตโนมัติของ Fujitaka นั้นมีความแม่นยำมากกว่าพนักงงานหน้าผับที่คอยตรวจสอบไม่ให้เด็กเข้าไปใช้บริการเสียอีก

วันหลังผมจะมาเล่าเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อีกนะครับ ......................