14 มีนาคม 2551

The End of Oil - อวสานของน้ำมัน (ตอนที่ 2)


กับคำถามที่ว่า ตอนนี้โลกถึงจุดสูงสุดของกำลังการผลิตน้ำมันดิบ หรือ Peak Oil แล้วหรือยัง เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นปีที่ราคาน้ำมันเริ่มถีบตัวสูงขึ้นมาเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจของจีนที่บูมขึ้นมา ทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น เมื่อมาเจอผลพวงจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ก็ทำให้ทั่วโลกเป็นห่วงตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญ ส่งผลทำให้เกิดการเก็งกำไรราคาน้ำมันขึ้นมาซ้ำเติมอีก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ OPEC ก็มีอำนาจต่อรองเหนือผู้ใช้น้ำมันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จนสามารถกำหนดกำลังการผลิตและราคาตามใจได้ ทำให้คำถามที่ว่า Peak Oil เกิดขึ้นหรือยัง ยิ่งตอบได้ยาก เพราะราคาน้ำมันที่สูงในปัจจุบัน อาจเป็นผลมาจากการเมือง มากกว่าความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการรู้ว่า น้ำมันใกล้หมดหรือยัง


ผลการศึกษาตามแนวของ Hubbert Peak Theory แต่ไหนแต่ไรก็บอกว่าโลกเข้าใกล้ยุค End of Oil แล้ว ในช่วง ค.ศ. 2000 - 2015 นี้แหล่ะ ได้เห็น Peak Oil แน่ๆ แต่ค่ายที่มองโลกในแง่ดีก็ค้านมาตลอด เช่น International Energy Agency (IEA) ได้ออกรายงานเล่มหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว โดยบอกว่า Peak Oil ยังอยู่อีกไกล โดยกล่าวว่าโลกเราซึ่งใช้น้ำมันกันวันละ 86 ล้านบาร์เรล จะมีความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มเป็นวันละ 95.8 ล้านบาร์เรลในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเฉพาะ OPEC ก็น่าจะสามารถรองรับได้ น้ำมันที่ OPEC ผลิตนั้น เป็นน้ำมันในรูปแบบธรรมดา หรือ Conventional ซึ่งขุดเจาะบนแผ่นดิน หรือไหล่ทวีป แต่โลกเรายังมีน้ำมันประเภทอื่นๆ เช่น น้ำมันในทะเลลึก และ ทรายน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการนำมาใช้ น้ำมันประเภทหลังนี้เองที่ต้องลงทุนสูงในการนำออกมาใช้ ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายสนับสนุน Peak Oil หรือฝ่ายคัดค้าน ล้วนเห็นตรงกันว่ายุคของน้ำมันราคาถูกนั้นจบลงแล้ว - The End of Cheap Oil - ซึ่งเราคงไม่มีโอกาสได้กลับไปเห็นน้ำมันเบนซินลิตรละ 10 บาท อีกต่อไปแล้ว


ในขณะที่ประเทศอาหรับผู้ขายน้ำมันเอง ตอนนี้เขาเริ่มปันเอาผลกำไรมาพัฒนาพลังงานทางเลือกกันแล้ว แต่ประเทศไทยผู้ใช้น้ำมันยังไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง เพราะคิดว่าราคาน้ำมันอาจจะกลับไปถูกเหมือนเดิม วันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังครับว่า อาหรับเขากำลังพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางแห่งพลังงานทางเลือกของโลกกันอย่างไร .......