24 กุมภาพันธ์ 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 1


ประเทศไทยมีความโดดเด่น ในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สปา รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ ที่มีความจำเพาะทางด้านภูมิศาสตร์ ทำให้สามารถสร้างแบรนด์ของสินค้า ให้มีชื่อผูกติดกับท้องถิ่นได้ เกิดเป็นสินค้า OTOP ทั้งนี้รัฐบาลยุคนายกฯ ทักษิณ จึงมียุทธศาสตร์ที่จะทำให้สินค้าเหล่านี้มีคุณภาพเพียงพอ ที่จะส่งออกไปขายต่างประเทศ รวมทั้งต้องการให้คนไทยด้วยกัน หันมาบริโภคมากขึ้น แต่การควบคุมหรือเพิ่มคุณภาพสินค้า OTOP มีข้อจำกัดที่ว่า เทคโนโลยีที่ใช้ไม่ควรนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนแก่สินค้ามากเกินไป เพราะสินค้า OTOP โดยมากเป็นอุตสาหกรรมกึ่งครอบครัว ที่อาศัยภูมิปัญญาพื้นถิ่น ใช้เทคโนโลยีแบบชาวบ้าน (Appropriate Technology) ที่มีต้นทุนต่ำ ดังนั้นเทคโนโลยีควบคุมคุณภาพ หรือปรับปรุงคุณภาพที่เกิดจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์คนไทยด้วยกันเอง น่าจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมประเภทนี้ เทคโนโลยีไทยทำอาศัยความได้เปรียบตรงที่ แหล่งกำเนิดของเทคโนโลยีกับผู้ใช้อยู่ใกล้กัน ทำให้มีราคาถูก และประสิทธิภาพที่ปรับได้ตามการใช้งาน ประกอบกับชาวบ้านมักจะ “ยินดี” ที่จะลองเทคโนโลยีของคนไทยด้วยกันเอง มากกว่าอุตสาหกรรมใหญ่ที่ยัง “เชื่อและนิยม” เทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ นาโนเทคโนโลยี ที่พัฒนาด้วยฝีมือคนไทย จะเดินพาเหรดเข้ามาช่วย พัฒนาสินค้าโอท็อบให้เป็น OTOP Version 2.0


จากหน้าเว็บไซต์ของ ThaiTambon.com จะพบว่ามีสินค้า OTOP ขึ้นทะเบียนไว้ถึง 66,000 รายการ โดยมีผลิตภัณฑ์หลักแบ่งตามกลุ่มใหญ่คือ ของขวัญ ของตกแต่งและหัตถกรรม (มีถึง 42,000 รายการ) อาหารและเครื่องดื่ม (12,400 รายการ) ผลิตผลการเกษตร (2,500 รายการ) ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (4,500 รายการ) เครื่องหนังและรองเท้า (1,400 รายการ) สิ่งทอ (1,200 รายการ) อัญมณี (750 รายการ) เฟอร์นิเจอร์ (550 รายการ) ของใช้ในบ้าน (500 รายการ) ใน series ของบทความ Nano OTOP นี้ ผมจะค่อยทยอย นำเรื่องที่เกี่ยวกับโอกาส ความเป็นไปได้ ในการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะเป็นนาโนเทคโนโลยีของคนไทย เพื่อช่วยคนไทยด้วยกันครับ