14 กุมภาพันธ์ 2551

ควรเรียนนาโนระดับปริญญาตรีไหม ?


กระแสนาโนเทคโนโลยีในช่วงปีนี้ แม้ว่าจะดูแผ่วๆ ไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องปกติเพราะกระแสนาโนนี้มันวิ่งต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 แล้ว หากเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม หรือ Bioinformatics พวกนี้ซาไปตั้งแต่ปีที่ 4 แล้ว แต่นาโนยังแข็งแรงวิ่งมาเป็นปีที่ 8 ได้โดยก็ไม่ได้ตกลงมากนัก เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ยังมีความต้องการสูงที่จะศึกษาต่อทางด้านนี้ วันนี้ผมจึงขอพูดถึงเรื่องนี้สักเล็กน้อยครับ

นาโนเทคโนโลยีเป็นการพัฒนา การสร้างและการใช้อุปกรณ์ หรือสิ่งของที่มีขนาดนาโนเมตร ดังนั้นคนที่จะเป็นนักนาโนเทคโนโลยีได้ จึงอาจจะมาจากสาขาได้หลากหลายมาก เช่น นักฟิสิกส์ก็เรียกนักนาโนฟิสิกส์ นักเคมีที่ทำงานในระดับนาโนก็เรียกนักเคมีนาโน นักชีววิทยาที่ทำงานเกี่ยวกับระบบของนาโนอุปกรณ์ก็เรียกนักนาโนชีววิทยา เภสัชกรที่ศึกษาวิจัยอนุภาคนาโนเพื่อการนำไปใช้นำส่งยาก็เป็นนักนาโนเทคโนโลยีได้ แพทย์ที่พัฒนาอุปกรณ์นาโนเพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยโรค หรือ เป็นอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ ก็ถือว่าเป็นนักนาโนเทคโนโลยีได้ ดังนั้น การจะเป็นนักนาโนเทคโนโลยีที่ดีจึงควรมีพื้นฐานในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น ในระดับปริญญาตรีไม่ควรไปเรียนในหลักสูตรนาโนเทคโนโลยีโดยตรง แต่ควรเรียนทางด้านใดด้านหนึ่งต่อไปนี้ให้รู้จริง เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ชีวเคมี เภสัช แพทย์ เทคนิคการแพทย์ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล เป็นต้น เพื่อให้มีพื้นฐานในวิชาชีพที่เข้มแข็ง จากนั้นในระดับปริญญาโทหรือเอก ค่อยไปเรียนในสาขาอื่นๆ ที่มีการวิจัยทางด้านนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี โดยควรเรียนรู้ข้ามศาสตร์จากสิ่งที่ตัวเองเคยเรียนมาจากระดับปริญญาตรี เหตุที่ผมไม่แนะนำให้ไปเรียนหลักสูตรนาโน ในระดับปริญญาตรีก็เนื่องมาจาก นาโนศาสตร์ เป็นเรื่องที่มีความหลากหลายและกว้างขวางมาก ดังนั้น หลักสูตรในระดับปริญญาตรีผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ไปเกือบทุกเรื่อง จนไม่มีความชำนาญเฉพาะด้านเลย เมื่อจบปริญญาตรีมาหากจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ก็จะไม่สามารถสู้กับคนที่เรียนเฉพาะทางมาได้ น้องๆ อาจสังเกตว่าหลักสูตรปริญญาตรีทางด้านนาโนเทคโนโลยีแม้แต่ในประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นก็ยังไม่มีการเปิดสอน แต่อย่างใดครับ


(ภาพบน - เด็กๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกามีโอกาสเรียนรู้เรื่องนาโน ตั้งแต่อายุยังน้อย)