09 ตุลาคม 2550

นาโนเทคโนโลยีเพื่อการทหาร (Nano Defense)


“ความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีกำลังจะทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลกที่ไร้เทียมทาน” ถึงแม้จีนจะไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ เพราะจีนเองก็กำลังทุ่มงบประมาณอย่างหนัก สำหรับการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อการทหารเช่นกัน แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้ปรับบทบาทจาก “พี่ใหญ่ของโลกเสรี” มาเป็น “ตำรวจโลก” ที่ต้องรักษาความสงบสุขรอบโลก รูปแบบการจัดกำลังรบของสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก จากการมีฐานทัพขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ มาเป็นกำลังรบขนาดเล็กลง และลอยน้ำโดยตั้งอยู่กระจัดกระจายครอบคลุมเกือบทั้งโลก กำลังรบที่เล็กลงนี้มีความคล่องตัวและเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว อีกทั้งสามารถจะไปรวมตัวยังจุดใดจุดหนึ่งก็ได้เมื่อถูกเรียกใช้

ในปี ค.ศ. 2002 กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้อนุมัติเงินกว่า 2,000 ล้านบาทเพื่อก่อตั้ง สถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร (Institute of Soldier Nanotechnologies) ขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมซซาจูเซตต์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาชุดทหารแห่งอนาคต สถาบันดังกล่าวประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จำนวน 60 คน จากภาควิชาทั้งหมด 12 ภาควิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมวัสดุ ชีววิทยา เป็นต้น บวกกับนักศึกษาระดับปริญญาเอกกว่า 100 ชีวิต ดำเนินการวิจัยมุ่งเป้าโดยครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เพื่อทำให้ทหารอเมริกัน มีความสามารถในการอยู่รอดได้เพิ่มขึ้น นับเป็นโครงการใหญ่โครงการแรก ที่มุ่งเป้าไปที่ตัวทหารที่เป็นบุคคล มากกว่าระบบอาวุธเหมือนที่ผ่านมา โครงการวิจัยของสถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร เน้นหัวข้อเชิงกลยุทธ์ 5 หัวข้อ ได้แก่ (1) Light Weight, Multifunctional Nanostructured Fibers and Materials (2) Battle Suit Medicine (3) Blast and Ballistic Protection (4) Chem/Bio Materials Science - Detection and Protection (5) Nanosystems Integration

เมื่อโครงการนี้พัฒนาไปถึงขีดสุด สิ่งที่ทหารราบสหรัฐจะได้รับก็คือ น้ำหนักของสัมภาระส่วนตัวจะลดลงจาก 45 กิโลเหลือแค่ 10 กิโลเท่านั้น อาวุธประจำกายที่พัฒนาขึ้นไปอีก โดยใช้นาโนวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและมีอำนาจการยิงสูง ชุดเกราะที่ทำจากเส้นใยนาโนที่เบาและใส่สบายแถมมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่วัดสภาพร่างกายเช่น อัตราชีพจร อุณหภูมิ ความดัน และส่งข้อมูลตรงไปที่กองบัญชาการภาคสนาม ซึ่งสามารถมอนิเตอร์สัญญาณชีวิตของทหารแต่ละนาย มีนาโนเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจสอบสารเคมีและเชื้อโรค ชุดทหารอัจฉริยะเหล่านี้ฝังคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่เชื่อมโยงสัญญาณจากเซ็นเซอร์ต่างๆด้วยเส้นใยที่นำไฟฟ้าทักทอไปพร้อมกับใยผ้า มีระบบระบายความร้อนแบบเทอร์โมอิเล็กตริก ทำให้นักรบเหล่านี้สามารถปฏิบัติการในทะเลทรายตลอดวันได้โดยไม่เหนื่อยเพลีย ภายนอกของชุดมีเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพของแสงรอบข้าง และจะปรับชุดให้สามารถพรางตัวได้ เช่น หากอยู่ในหิมะจะเป็นสีขาว ในป่าจะมีสีเขียว เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นชุดที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ไม่เปื้อนเลนหรือโคลน เหมือนใบบัวที่ไม่เปียกน้ำและสะอาดใสปิ๊งตลอดเวลา อุปกรณ์ทุกอย่างได้พลังงานมาจากแบตเตอรีความจุสูงน้ำหนักเบาที่ทำจากวัสดุนาโน โดยจะประจุไฟเข้าไปเก็บในเวลากลางวันโดยใช้เซลล์สุริยะ โดยขณะนี้ทางเพนตากอนได้ทดลองเซลล์สุริยะแบบพลาสติกที่พับเก็บได้ในภาคสนามแล้ว ลักษณะเหมือนม่านบังแดดหน้ารถ หมวกทหารก็จะเปลี่ยนไป จากหมวกเหล็กที่แสนจะธรรมดา มาเป็นหมวกที่มีฝาครอบเหมือนหมวกกันน็อกของสิงห์นักบิด หากแต่หมวกทหารใบนี้นอกจากจะกันกระสุนแล้ว ฝาครอบยังเป็นเสมือนจอดิสเพลย์ที่แสดงผลข้อมูลที่ทหารจำเป็นต้องรู้ โดยสามารถควบคุมด้วยเสียงพูด มีอุปกรณ์มองเห็นด้วยรังสีอินฟาเรดสำหรับเวลากลางคืน ยานพาหนะที่จะนำทหารหน่วยนี้ไปรบก็จะมีความพิเศษกว่าตรงที่ ยานเหล่านี้ติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้รอบทิศทาง ถ้ามีการจู่โจมจากอาวุธจรวดก็สามารถตอบโต้โดยอัตโนมัติด้วยการยิงกระสุนที่สามารถแตกสะเก็ดเพื่อทำลายจรวดที่พุ่งเข้ามาก่อนจะถึงพาหนะ วัสดุที่ใช้ทำเกราะก็หนีไม่พ้นวัสดุที่ใช้ส่วนผสมของท่อนาโนคาร์บอนที่มีความแข็งแกร่งสูงมาก

ฟังดูแล้วเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ในทางการทหารนั้น การสร้าง Surprise ให้แก่ศัตรู คือการมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว .......
(ภาพข้างบน - คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายให้ใหญ่)

1 ความคิดเห็น: