18 มิถุนายน 2553

Science of Boredom - ศาสตร์แห่งความเบื่อ (ตอนที่ 1)


ความเบื่อ (boredom) ถูกนิยามว่าเป็นภาวะทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการไม่ได้ทำกิจกรรมสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นระยะเวลานานๆ หรือ เมื่อบุคคลใดเกิดภาวะไม่สนใจในสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่น่าเชื่อครับว่า คำว่า boredom ในภาษาอังกฤษเองก็เพิ่งจะมีใช้กันเมื่อ 150 กว่าปีที่แล้วนี่เอง !! จริงหรือครับว่าคนในสมัยอยุธยาเขาไม่มีความเบื่อกัน มีแต่ความสนุกสนานกันตลอดเวลา ??

ทำไมเราจึงต้องสนใจกับศาสตร์แห่งความเบื่อนี่ล่ะครับ ทำไมเราจะต้องเข้าใจมัน ... จริงๆ แล้ว ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความเบื่อนี้จะนำมาสู่การรักษาโรคหลายๆ ชนิดที่เกี่ยวข้องกับมันครับ มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า ความเบื่ออาจจะนำไปสู่ภาวะเสื่อมถอยทางสุขภาพทั้งทางกายและใจหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ โรคอ้วนเพราะกินแก้เหงาแก้เซ็ง ติดเหล้าดื่มให้หายเบื่อ มีเซ็กส์มากให้หายเหงา สูบบุหรี่แก้เครียด ชอบพฤติกรรมเสี่ยงอย่างแข่งรถ การทะเลาะชกต่อย ทำลายข้าวของสาธารณะ แย่ไปเลยก็ไปติดยาเสพติดทั้งหลาย ติดการพนัน การทรมานตัวเองต่างๆ นานา ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าเราเข้าใจเรื่องความเบื่อได้ เราก็อาจจะแก้ปัญหาที่กล่าวมานี้ได้ครับ ในเมืองไทยเราเองนั้น มีปํญหาเหล่านี้ค่อนข้างเยอะ แต่เรายังไม่เคยพูดถึงเรื่องของความเบื่อ ที่นำมาสู่ปัญหาพวกนี้เลย

การศึกษาเรื่องของความเบื่อ อาจจะนำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อีกมากมายครับ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำไปใช้แก้ความเบื่อ แทนพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพดังที่กล่าวมาข้างต้น หากใครคิดได้ มีไอเดียเจ๋งๆ ก็อาจจะรวยโดยไม่รู้ตัว จากการคิดค้นเทคโนโลยีแก้เบื่อเหล่านี้ บริษัทฟอร์ดได้ใส่เกมส์เข้าไปในรถ Ford Fusion ซึ่งเป็นรถประเภทไฮบริดที่สามารถนำพลังงานส่วนเกินไปเก็บในแบตเตอรี่ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้รถสามารถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน โดยเกมส์นี้จะอยู่บนคอนโซลรถยนต์ของฟอร์ด หากผู้ขับขี่ขับรถดีๆ ไม่กระโชกโฮกฮาก รักษาระดับการขับขี่ที่ทำให้ประหยัดน้ำมัน ที่หน้าคอนโซลของรถจะมีต้นองุ่นค่อยๆ ผลิใบออกมาทีละใบ และมันจะเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ หากเรารักษาระดับขับขี่อย่างนุ่มนวลเอาไว้ ในที่สุดเราจะได้ต้นองุ่นที่สมบูรณ์ .... ทว่า ... หากเรา จู่ๆ ก็เหยียบคันเร่ง กระชากพวกมาลัย ปาดซ้ายปาดขวา วิ่งเร็วๆ ผสมเบรคแรงๆ ใบของต้นองุ่นก็จะร่วงออกจนหมดต้น เกมส์ที่อยู่บนรถฟอร์ดรุ่นนี้ จึงปรับพฤติกรรมผู้ขับขี่ให้ขับขี่อย่างมีมรรยาทมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนความน่าเบื่อของการขับรถบนท้องถนน มาเป็นกิจกรรมดูแลองุ่น แทนที่จะไปขับปาดซ้ายปาดขวาเพื่อแก้เบื่อ ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น