15 มิถุนายน 2553

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 3)


การทำให้สนามรบมีอัจฉริยภาพขึ้นมานั้น มีเทคโนโลยีต่างๆ ให้เลือกใช้มากมาย ซึ่งผมจะทยอยนำมาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ ครับ แต่ช่วงแรกๆ นี้ ผมขอนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพ หรือ Machine Vision ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในสนามรบที่เป็นพื้นที่ปกติ เช่น ในทุ่งหญ้า ทะเลทราย ป่าเขา หรือเป็นพื้นที่ปิดอย่างในเมือง

จะว่าไป มหานครใหญ่ๆ ทั้งในประเทศแถบตะวันตก และในเอเชีย หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ของเรา ก็มีกล้องวงจรปิดหรือ CCTV ติดตั้งกันอยู่มากมาย แต่ทว่ากล้องเหล่านั้นกลับไม่ได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน แต่ละหน่วยงานมีกล้องวงจรปิดของตนเอง เอกชนอย่างเช่นธนาคารก็มี กล้องเหล่านี้ไม่ได้มีความเชื่อมโยงหรือประสานงานกันแต่อย่างใด ที่สำคัญ กล้องเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันเหตุร้ายเลย แต่มันมีเอาไว้เพื่อใช้ดูว่าใครเป็นจำเลย เมื่อเหตุร้ายนั้นผ่านไปแล้ว เทคโนโลยีนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับสนามรบเลย เพราะในการรบ ทหารต้องการใช้ภาพที่เก็บได้เพื่อประเมินหรือวิเคราะห์สถานการณ์ ณ เวลาจริง อันจะนำไปสู่การตัดสินใจกระทำการใดใดก่อนที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น เช่น หากมีเครือข่ายกล้องวงจรปิดติดตั้งในบริเวณสี่แยกคอกวัวในวันที่ 10 เมษายน 2553 ผู้บัญชากองกำลังในเวลานั้นคงไม่บาดเจ็บขาขาด อีกหนึ่งนายต้องนอนเป็นเจ้าชายนิทรา และอีกหนึ่งนายเสียชีวิต ... เป็นอะไรที่น่าเศร้ามาก เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ หากมีใช้เต็มรูปแบบ ยังมีราคาถูกกว่าเครื่องบิน F16 หนึ่งลำเสียอีก

การมีกล้องนับพันๆ ตัวติดตั้งทั่วกรุงเทพมหานคร จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากให้มนุษย์มาเป็นผู้นั่งเฝ้าหน้าจอ เพราะถึงแม้จะมีกล้องเป็นพันๆ ตัว แต่ห้องควบคุมอาจจะบรรจุหน้าจอแสดงผลได้อย่างมากก็หลักร้อย แถมหน้าจอเป็นร้อยๆ จอก็อาจจะมีคนนั่งเฝ้าอยู่ไม่ถึงสิบคน สรุปคือ แต่ละคนมีภาระที่จะต้องสแกนหน้าจอไปพร้อมๆ กันหลายสิบหน้าจอ โดยที่ในขณะเดียวกัน ยังมีกล้องอีกเป็นร้อยๆ ตัวที่ถ่ายภาพเข้าไปโดยที่ไม่มีมนุษย์เฝ้ามอง

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นจะต้องซอฟต์แวร์วิเคราะห์ภาพ ที่สามารถทำหน้าที่เฝ้ามองภาพจากกล้อง CCTV เหล่านั้นแทนมนุษย์ ซอฟต์แวร์นี้จะต้องมีความฉลาด ต้องถูกฝึกมาให้สังเกตในสิ่งที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงเหตุผิดปกติ เช่น หากมีรถต้องสงสัยวิ่งเข้ามาจากถนนเส้นหนึ่ง แล้วมันตรวจเจอ มันจะต้องสามารถติดตามรถคันนี้จากกล้องตัวหนึ่งไปยังกล้องอีกตัวหนึ่งได้ทันที มันจะต้องสามารถวิเคราะห์เส้นทางการวิ่งของรถคันนี้ได้ เมื่อมันจับภาพเลขทะเบียนได้ มันต้องมีความสามารถในการซูมภาพเข้ามา วิเคราะห์ภาพให้ได้ข้อมูลของเลขทะเบียน แล้วทำการติดต่อคอมพิวเตอร์ของกรมการขนส่งทางบก ทำการเปรียบเทียบหมายเลขทะเบียนกับรถว่าตรงกันหรือไม่ หากเลขทะเบียนไม่ตรงกัน แสดงว่ารถคันนี้ใช้เลขทะเบียนปลอม ซึ่งต้องเป็นของคนไม่ดีแน่ๆ อาจจะนำไปใช้ก่อเหตุ มันจะต้องสามารถทำการเตือนมนุษย์ที่รับผิดชอบได้ทันที

ระบบที่ผมพูดถึงนี้ มีการพัฒนาออกมาใช้แล้วครับ โดยบริษัท Abeo Technical Solutions โดยตั้งชื่อมันว่า AWARE (The Automated Warning and Response Engine) ในอนาคตคงจะมีคู่แข่งตามออกมาอีกหลายบริษัทครับ ...


1 ความคิดเห็น:

  1. เทคโนโนยีเป็นเหมือนดาบสองคมครับถ้ารู้จักใช้ดีๆก็เป็นประโยชน์ ถ้าไม่เรียนรู้มันก็ไม่ต่างอะไรกับ ขยะครับ

    ตอบลบ