13 กุมภาพันธ์ 2553

Gesture Recognition - เทคโนโลยีตรวจจับภาษากาย (ตอนที่ 1)



ศาสตร์แห่งการบูรณาการระหว่างสิ่งมีชีวิต กับจักรกล (Life and Machine Integration) กำลังเป็นเรื่องที่มาแรงมากๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ครับ สาขาหนึ่งที่ผมจะนำมากล่าวถึงในบทความชุดนี้ก็คือ HMI (Human-Machine Interface) หรือการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับจักรกล ซึ่งมีสาขาย่อยๆ ออกไปมากมาย เช่น Bionics (อวัยวะชีวกล) Implantable System (การปลูกอุปกรณ์เข้าไปในร่างกายมนุษย์) Smart Fabrics (อาภรณ์ฉลาด) และอื่นๆ อีกมากมายครับ

แต่วันนี้ผมขอนำศาสตร์ในการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ กับ จักรกล ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อในเรื่องของการแสดงออกทางภาษากาย หรือ อากัปกริยา ระหว่างมนุษย์กับจักรกลเกิดขึ้นได้ ศาตร์นั้นก็คือ Gesture Recognition ซึ่งเป็นเรื่องของการตรวจวัดและแปลความหมายของภาษาร่างกายของคนเรา ให้ออกมาเป็นโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ เป็นการเปลี่ยนอาการทางกายของมนุษย์ให้เป็นข้อมูลดิจิตอลที่มีความหมาย สามารถนำไปอ้างอิง เปรียบเทียบ และ ประมวลผลเชิงตัวเลขได้

ภาษากายของมนุษย์นี้ก็จะรวมถึง อะไรก็ได้ที่แสดงออกได้ทางร่างกายครับ เช่น กริยา อาการ ท่าทาง การแสดงออกทางสีหน้า การยักคิ้วหลิ่วตา การกรอกตาไปมา การแสดงอาการเซ็ง เสียใจ ซึ้งใจ ภาษามือต่างๆ ก็รวมอยู่ด้วย การยักไหล่ ลักษณะการเดิน นั่ง วิ่ง นอน รวมหมดเลยครับ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของกายเหล่านั้นทีละส่วน หรือ หลายๆ ส่วนพร้อมกัน หรือเป็นองค์รวม

การพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับภาษากายนี้ มีประโยชน์ต่อทั้งมนุษย์และจักรกลครับ เพราะว่าจะทำให้มนุษย์มีช่องทางในการติดต่อ (Interface) ใช้ประโยชน์จากจักรกลมากขึ้น ซึงปัจจุบันเราสื่อสารกับจักรกลผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อไม่กี่อย่าง เช่น คีย์บอร์ด เมาส์ ทัชแพด ตอนนี้มีอุปกรณ์ Haptics มาให้ใช้เพิ่มขึ้น แต่ต่อไปเครื่องจักรจะเข้าใจภาษากายของเราด้วยครับ ส่วนประโยชน์ที่จักรกลจะได้รับก็คือ "ความมีชีวิต" เพราะอาการทางกายเป็นสิ่งที่ส่งมีชีวิตระดับสูงมี ดังนั้น ถ้าอยากให้จักรกลมีลักษณะของชีวิต ก็ต้องทำให้มันมีภาษากายด้วยครับ

วันหลังมาคุยกันต่อครับ ......

1 ความคิดเห็น:

  1. โอ้แม่เจ้า... พูดเล่นรึเปล่าครับ

    แต่ก็ทำให้คิดถึงหนังเรื่อง Gamer เลย

    แบบนั้นรึเปล่าที่คุณหมายถึง?

    ตอบลบ