30 กันยายน 2555

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 6)



ถ้าผมมีเงินลงทุนสักก้อนเพื่อทำธุรกิจ ผมจะไม่ลังเลเลยที่จะทำธุรกิจทางด้านเกษตรและอาหาร ถึงแม้ว่าในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่จะมองว่า เกษตรกรรมเป็นอาชีพของคนจน ทำงานหนัก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย แต่หากเราลองคิดดูกันเล่นๆ ว่า ในอีก 18 ปีข้างหน้า คือในปี ค.ศ. 2030 โลกเราจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน และในปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากรล้นหลามถึง 9,000 ล้านคน ประเทศไทยจะต้องผลิตอาหารให้ได้มากกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นนับจากวันนี้ไป เท่ากับมีประเทศจีนเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ประเทศ อนาคตของประเทศไทย และอนาคตของโลกคือเกษตรกรรมครับ ไม่ใช่ การท่องเที่ยวและบริการ เพราะถึงวันนั้น เราอาจจะปิดประเทศ ไม่อยากให้ใครเข้ามาในประเทศเรามากกว่านี้แล้วก็ได้ แต่เราต้องการส่งออกอาหารไปเลี้ยงคนเหล่านั้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศของเรา

แล้วแนวโน้มของเกษตรกรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะทำง่ายขึ้นหรือยากขึ้น ผมขอแบ่งเกษตรกรรมออกเป็น 2 ชนิดนะครับ

(1) Outdoor Agriculture หรือ เกษตรกลางแจ้ง เป็นการทำเกษตรที่เก่าแก่และทำมาตั้งแต่มนุษย์เราเริ่มมีอารยธรรม การเกษตรแบบนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้า อากาศ ที่ไม่อาจควบคุมได้ (ในอนาคต เราอาจมีเทคโนโลยีที่ควบคุมดินฟ้าอากาศได้ในระดับหนึ่ง เช่น การเบี่ยงเบนวิถีพายุ) การทำการเกษตรแบบนี้ในอนาคตจะยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ดังนั้น เราต้องการเทคโนโลยีแบบใหม่ที่เรียกว่า Climate-Smart Agriculture หรือ เกษตรกรรมที่ฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือ เป็นการเกษตรที่ปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งทำให้ในอนาคตเราจะต้องรู้ทันสภาพภูมิอากาศที่จะเข้ามาในพื้นที่ไร่นาของเรา เพื่อที่เราจะได้สามารถปรับกิจกรรมในไร่ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น

(2) Indoor Agriculture หรือ เกษตรในร่ม เป็นการเกษตรที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเกษตรแบบนี้ สามารถเราสามารถที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชที่ปลูก หรือ สัตว์ที่เลี้ยงได้ ในอนาคตอีกไม่นาน เกษตรกรรมแบบนี้จะเริ่มเข้าไปอยู่ในเมือง ในรูปแบบที่เรียกว่า Urban Agriculture หรือ เกษตรกรรมในเมือง หรือแม้แต่ Vertical Farming ซึ่งเป็นการทำไร่ทำนาบนอาคารสูง  ข้อดีของการเกษตรแบบนี้คือ การผลิตจะอยู่ใกล้กับการบริโภค ก่อให้เกิดการลดการปลดปล่อยคาร์บอน หากเกษตรกรรมแบบนี้ถูกพัฒนาให้เข้ามาแทนที่เกษตรกรรมแบบแรกได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบเชิงบวกมากมายมหาศาล  พื้นที่เกษตรกรรมแบบกลางแจ้งจะถูกปล่อยกลับคืนให้เป็นของธรรมชาติ เกิดเป็นป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอน มนุษย์จะถูกโยกย้ายจากสังคมชนบทให้เข้าไปอยู่ในเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เป็นการแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างตรงเป้า เพราะว่าเกษตรกรรมปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยทั้งหมด มากกว่ารถยนต์ทุกคัน เรือและเครื่องบินทุกลำในโลกรวมกัน ไม่มีกิจกรรมอะไรอีกแล้วของมนุษย์ ที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าเกษตรกรรม

แม้ว่าในระยะยาว เกษตรกรรมจะดูดีมีอนาคต แต่ในระยะสั้นๆ โดยเฉพาะปัจจุบัน การเกษตรของประเทศเราถูกรุมเร้าด้วยปัญหารอบด้าน ทั้งในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปจนยากจะคาดเดา ทั้งในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของดิน และ สภาพแวดล้อม นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นภาคส่วนที่มีการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง คนหนุ่มสาวสนใจมาทำการเกษตรน้อยลง สังคมเกษตรจึงเริ่มกลายมาเป็นสังคมผู้สูงวัย แรงงานด่างด้าวก็มีไม่มากนักที่สนใจมาใช้แรงงานในการทำไร่ทำนา ทำให้ในอนาคต ประเทศไทยจะต้องเริ่มคิดถึงเทคโนโลยีที่จะมาช่วยทดแทนแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งผมมองว่าเทคโนโลยี 3 ประเภทนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้

(1) Ambient Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกษตรกรรู้ความเป็นไปของสภาพแวดล้อมในไร่ และสภาพอากาศที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง ลม ฝน ความชื้นในดิน พายุที่กำลังจะเข้า การระบาดของแมลง การเจริญเติบโตของพืช ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมในไร่ที่ถูกต้อง

(2) Operational Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การดำเนินกิจกรรมในไร่นาทำได้อย่างอัตโนมัติ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากข้อ (1) เช่น รถไถหยอดปุ๋ยและยาฆ่าแมลงแบบอัตโนมัติ โดยคำนึงถึงความต้องการของพืช การระบาดของแมลง ซึ่งเก็บได้จากเซ็นเซอร์ตรวจวัดในข้อ (1) เป็นต้น

(3) Business Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรคาดเดาผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในไร่นาของตนเอง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการประมวลผลข้อมูลในข้อ (1) และ (2) รวมไปถึงข้อมูลตลาด supply & demand ของสินค้าเกษตรในอนาคต

วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ วันหลังผมจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกครับ

22 กันยายน 2555

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 3)


(ภาพจาก Flickr.com)

ในภาพยนตร์เรื่อง Avatar ตอนที่นางเอกพาพระเอกไปหัดขี่มังกร นางเอกได้สอนให้พระเอกเอาปลายของมวยผม เชื่อมเข้ากับปลายหนวดของมังกร ซึ่งจะทำให้ข้อมูลของพระเอกถูกเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลในตัวของมังกร ทำให้ทั้งพระเอกและมังกรสามารถเรียนรู้กันและกันได้ดีขึ้น หนังเรื่องนี้ยังได้แสดงให้เห็นตัวอย่างของการเชื่อมข้อมูลระหว่างสิ่งมีชีวิตอีกหลายครั้ง เช่น พระเอกได้ถ่ายเทข้อมูลชีวิตของตัวเองทั้งหมด ออกจากร่างกายที่เป็นมนุษย์พิการ ไปสู่ร่าง Avatar ผ่านต้นไม้อัจฉริยะที่มีชื่อว่า Eywa

คงจะดีไม่น้อยนะครับ ถ้าเราจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยการเชื่อมสมองของเรากับข้อมูลความรู้ได้โดยตรง ตอนที่ผมยังเด็กผมชอบเอาหนังสือมาหนุนหัว เพราะผู้ใหญ่ชอบพูดแหย่อยู่เสมอว่า มันจะช่วยทำให้ความรู้ซึมเข้าสู่สมองได้ ลองคิดดูนะครับ ทุกวันนี้คนที่จบปริญญาเอกจะต้องเรียนกี่ปีถึงจะได้ใช้คำว่า ดร. นำหน้า ประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี ปริญญาตรี 4 ปี โท+เอก อีก 5 ปี (อย่างเร็วนะครับ เพราะส่วนใหญ่ โท+เอก ในเมืองไทย มักจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี) รวมทั้งหมด 21 ปี !!!! อะไรกันครับเนี่ย เราเสียเวลาไปถึง 21 ปี กว่าจะได้ทำอะไรที่มันเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ เราต้องใช้เวลาเรียนอย่างเดียวถึง 21 ปี เพื่อที่จะออกมาทำงาน โดยที่สิ่งที่เรียนมา อาจจะใช้ประโยชน์ได้น้อย แถมยังต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมทีหลังอีก ถึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neural Engineering (รายละเอียดเพื่อการอ้างอิง Robert E Hampson, Greg A Gerhardt, Vasilis Marmarelis, Dong Song, Ioan Opris, Lucas Santos, Theodore W Berger and Sam A Deadwyler, "Facilitation and restoration of cognitive function in primate prefrontal cortex by a neuroprosthesis that utilizes minicolumn-specific neural firing", Journal of Neural Engineering 9 (2012) 056012, doi:10.1088/1741-2560/9/5/056012) นักวิจัยได้ฝังชิพลงไปในสมองของลิง ซึ่งช่วยให้ลิงเรียนรู้ได้เร็วขึ้น โดยนักวิจัยได้ทดลองฉีดสารโคเคนเข้าไปในลิง เพื่อทำให้ลิงมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจช้าลง หลังจากนักวิจัยจึงป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าไปสู่ไมโครชิพที่ติดตั้งในสมองลิง เพื่อให้ไมโครชิพเริ่มทำงาน ผลปรากฎว่าลิงสามารถกลับมาคิดเร็วได้เหมือนเดิม นี่เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ในอนาคตมนุษย์เราเองสามารถที่จะฝังสมองกลแบบนี้เข้าไปในสมองของเรา เพื่อช่วยให้เรามีสมองได้ดีขึ้นเช่นกันครับ


ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เรามีเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานในอนาคต ทางออกหนึ่งที่เรามักใช้ก็คือการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว ดังนั้น เรามีทางเลือกอยู่ 2 ทางตอนนี้คือ

(1) นำแรงงานของผู้สูงวัยกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ด้วยการให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานที่บ้านได้ โดยการช่วยเหลือจากเทคโนโลยีต่างๆ การปรับระบบการศึกษาให้เป็น Online Education จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาเรียนที่สถาบันการศึกษา ทำให้ผู้สูงวัยเพิ่มพูนความรู้แบบก้าวกระโดด และสามารถมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง

(2) นำแรงงานเด็กในวัยเรียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันเด็กใช้เวลาทั้งหมดในวัยเรียนเพื่อเรียนอย่างเดียว แต่การศึกษาแบบใหม่ จะทะลุทะลวงโลก และจะสามารถนำศักยภาพของเด็กมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้ ระบบ Online Education จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น จบมหาวิทยาลัยเร็วขึ้น และในระหว่างเรียน เด็กก็สามารถรับ Job และทำงานไปเรียนไป สร้างรายได้ และเงินหมุนเวียนแก่ระบบเศรษฐกิจ

ถึงเวลาหรือยังครับ ที่เด็กไทยจะก้าวออกจากวงจรการเรียนพิเศษ การติวเข้ม เพื่อมุ่งเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนแบบนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ ไม่ได้สร้างทักษะพิเศษให้เด็ก และไม่ได้ทำให้เด็กมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการหารายได้ในอนาคตเลย เด็กที่ฉลาด เด็กที่มีวิสัยทัศน์จะไม่ไปเรียนพิเศษแบบนั้น แต่จะเลือกเรียนในสิ่งที่เพิ่มพูนทักษะของเขา และสามารถนำสิ่งที่เรียนมาหารายได้ เช่น การเรียนภาษาที่ 3 ภาษาที่ 4 การเรียนทำอะนิเมชั่น การเรียนทำกราฟิกส์ หรือเรียนเรื่องการเงิน การลงทุน ... นี่สิครับ ผมถึงจะเรียกว่าเป็นการศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก .... 



21 กันยายน 2555

Monsoon and the Future of Thailand - มรสุมกับอนาคตของไทย (ตอนที่ 2)



ช่วงนี้คนไทยส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกเป็นทุกข์และกังวลใจ กับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ที่ประเทศของเราประสบอยู่ ก่อนหน้านี้เพียงเดือนกว่าๆ ประเทศของเราประสบกับภาวะฝนแล้ง น้ำในเขื่อนใหญ่ๆ มีปริมาณน้ำในระดับที่ต่ำจนอาจไม่มีใช้ในช่วงหน้าแล้ง ทว่าหลังจากนั้นสัปดาห์เดียว ประเทศไทยต้องประสบภาวะอุทกภัยเป็นลูกโซ่ ไล่มาจากจังหวัดทางภาคเหนือ ลงมาเรื่อยๆ จนตอนนี้คนกรุงเทพฯ จำนวนมากนอนกันไม่หลับเลย กับภาวะที่ว่าไม่รู้จะต้องขนของหนีน้ำกันอีกไหม

ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นหรอกครับที่วิถีชีวิตกำลังตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของสภาวะอากาศ เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งของคนประมาณ 2,000 ล้านกว่าคน ที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้อิทธิพลของระบบมรสุมเอเชียใต้ ซึ่งเป็นระบบอากาศที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในโลก และครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์มากที่สุดในโลก ความเข้าใจในระบบมรสุม จะทำให้เราใช้ชีวิตที่รับมือกับความแปรปรวนได้มากขึ้น

อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลยครับที่สับสนกับความแปรปรวนของมรสุม นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังปวดหัวยิ่งกว่าอีกครับ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบอย่างไรกับระบบมรสุมของเรา ในวารสาร Nature Climate Change  ซึ่งทำการทบทวนบทความวิจัยอื่นๆ อีกประมาณ 100 รายการ ที่เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อระบบมรสุม โมเดลส่วนใหญ่ให้ผลการศึกษาออกมาว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ระบบมรสุมมีความเข้มข้นขึ้น นั่นคือฝนจะตกมากขึ้นในเอเชียใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย แต่ข้อมูลที่ผ่านมาตลอด 60 ปีกลับพบว่าจำนวนฝนตกในประเทศอินเดียกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่าน โลกเราได้ร้อนขึ้นไป 0.5 องศาเซลเซียสแล้ว

ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยได้พบกับภาวะฝนแล้งในช่วงฤดูเพาะปลูก ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตรเป็นมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท แต่ถัดมาอีก 1 ปี ในปี พ.ศ. 2554 เรากลับต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท  มาคราวนี้ในปี ค.ศ. 2012 ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะฝนแล้ง และ อุทกภัย ในปีเดียวกัน แถมห่างกันไม่ถึงเดือน

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ภาวะโลกร้อนน่าจะช่วยทำให้มรสุมมีความเข้มข้นมากกว่าที่จะทำให้มันอ่อนแรงลง นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนในย่านนี้ควรจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย เพราะการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศา เท่ากับจะมีปริมาณไอน้ำในอากาศที่เพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ มีการประมาณกันว่าประมาณปี ค.ศ. 2050 โลกเราจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 2 องศา ซึ่งจะทำให้ฝนจะตกมากกว่าเดิมโดยเฉลี่ย 8-10 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม จำนวนวันที่ฝนตกในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน - กันยายน) กลับจะลดลง เช่นในอินเดีย จะมีจำนวนวันที่ฝนตกประมาณ 60 วัน แต่ในอนาคตจะเหลือเพียง 40-50 วันเท่านั้น .... หมายความว่าอย่างไรครับ ... ก็หมายความว่า วันไหนที่ฝนตก ฝนจะตกหนักกว่าปกติ ซึ่งทำให้เรามีโอกาสเจอทั้งภัยแล้ง และ น้ำท่วม สลับกันง่ายขึ้น

น่าปวดหัวมั้ยครับ วันที่ฝนตกจะน้อยลง แต่ฝนจะตกหนักขึ้น ... แค่นี้ยังไม่พอนะครับ บริเวณที่ฝนตกชุกก็จะเปลี่ยนที่ด้วย หมายความว่าที่ๆ แต่ก่อนไม่ค่อยมีฝน หรือ ฝนแล้ง ต่อไปอาจจะกลายเป็นพื้นที่สีเขียว เช่น นักวิทยาศาสตร์พบว่า ฝนเริ่มตกมากขึ้นในมองโกเลีย ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีทะเลทรายเป็นบริเวณกว้าง แต่ในอนาคต มองโกเลีย อาจจะกลายมาเป็นประเทศเกษตรที่ผลิตอาหารได้เอง ในขณะที่ประเทศที่เคยมีฝนตกชุกอย่างเช่น อินเดีย ฝนกลับจะตกน้อยลง ทำให้การผลิตอาหารไม่เพียงพอในอนาคต  ในประเทศไทยเองก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้แน่นอนครับ ดังนั้น พวกเราควรจะเตรียมตัวเตรียมใจ ยอมรับที่จะปรับตัวและอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้หล่ะครับ

16 กันยายน 2555

Monsoon and the Future of Thailand - มรสุมกับอนาคตของไทย (ตอนที่ 1)



(Picture from http://captainkimo.com)

ผมคิดว่าช่วงนี้คนไทยคงจะรู้สึกสับสนเกี่ยวกับดิน ฟ้า อากาศ กันไม่น้อย ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ในเดือนสิงหาคม   มีการปลุกกระแสขึ้นมาโจมตีรัฐบาลว่า "รัฐบาลประสบปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ไปปล่อยน้ำในเขื่อนออกหมดจนทำให้อาจไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้งปีหน้า รัฐบาลไม่รู้เหรอว่าปีนี้มันแล้ง" ซึ่งในภายหลังคุณปลอดประสพก็ได้ออกมาต่อว่าสื่อมวลชนว่า ฤดูฝนมันยังไม่หมดเลย จะมาบ่นอะไรตอนนี้ว่าแล้ง ให้ฤดูฝนหมดไปก่อนแล้วค่อยมาพูด .... และก็เหมือนคุณปลอดประสพจะสั่งฟ้าฝนได้ เพราะหลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ ฝนก็ตกอย่างหนักในภาคเหนือ จนกระทั่งน้ำท่วมหนักที่สุโขทัย ส่วนคนกรุงเทพฯ ก็เริ่มเป็นกังวลอย่างเห็นได้ชัดว่าน้ำกำลังจะท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ อีกครั้ง ทั้งๆ ที่น้ำในเขื่อนหลักๆ ที่มีผลต่อการควบคุมจัดการน้ำสำหรับที่ราบลุ่มภาคกลางนั้น ยังมีระดับน้ำเพียง 50-60% เท่านั้น

ความสับสนของคนไทยนี้เกิดขึ้น เพราะพวกเรามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า "มรสุม" ทั้งๆ ที่พวกเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มันเป็นเจ้าของ มรสุมเป็นระบบภูมิอากาศที่มีความซับซ้อนมาก แต่เป็นเรื่องที่ยังศึกษาและมีความเข้าใจน้อยมากอีกด้วย ทำให้นาซ่าเกิดความสนใจที่จะเข้ามาสำรวจและเก็บข้อมูลในบริเวณนี้ ภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนี้เชื่อว่าจะทำให้ระบบมรสุมมีความซับซ้อนและเข้าใจยากขึ้นไปอีก ... ดังนั้น หากพวกเรายังไม่พยายามที่จะค้นคว้าศึกษาเรื่องมรสุม พวกเราก็จะทุกข์กับมันไปอีกนานเลยครับ

ในช่วงที่สื่อมวลชนและคนไทยกำลังด่าคุณปลอดประสพ เรื่องฝนแล้งอยู่นั้น คนไทยส่วนใหญ่คงไม่รู้ว่าข้ามไปในฝั่งพม่านั้นมีน้ำท่วมใหญ่ ทำลายพื้นที่การเกษตรหลายแสนไร่ ผู้คนต้องอพยพออกนอกพื้นที่หลายหมื่นคน แหล่งข่าวบางแหล่งบอกว่ามากถึง 85,000 คน แต่ในประเทศไทยบอกว่าฝนแล้ง ทำไมเป็นอย่างนั้นหล่ะครับ มันเกิดขึ้นได้อย่างไรที่เมืองไทยฝนแล้ง แต่ที่พม่าน้ำท่วม .... แต่ที่ทำให้สงสัยขึ้นไปอีกก็คือ เพียงแค่ 2 สัปดาห์ต่อมา พื้นที่ที่เราบอกว่าฝนแล้งไม่มีน้ำใช้ ได้กลายมาเป็นพื้นที่อุทกภัย เมื่อก่อนฝนแล้งกับน้ำท่วมจะเกิดคนละปี แต่เดี๋ยวนี้ฝนแล้งกับน้ำท่วมสามารถเกิดได้ในปีเดียวกัน แถมห่างกันแค่ 2 อาทิตย์ !!!

จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่คนไทยหรอกครับที่ งง ... ในปีนี้ประเทศอินเดียประสบปัญหาฝนแล้งถึงกับไม่มีน้ำมาปั่นไฟฟ้าใช้ จนเกิดไฟฟ้าดับในอินเดียลามไปถึง 22 รัฐ มีคนได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับถึง 620 ล้านคน คิดเป็นจำนวนประชากร 9% ของทั้งโลกเลยครับ ภาวะฝนแล้งนี้ยังอาจทำให้ข้าวปลา อาหาร ในอินเดียมีราคาสูงขึ้นในหน้าแล้งปีหน้า ซึ่งอาจจะลามไปทั้งโลกด้วยก็ได้ เชื่อไหมล่ะครับว่า อินเดียเจอกับฝนแล้งสลับไป สลับมา ในปีนี้แบบตั้งตัวตั้งใจแทบจะไม่ทันเลย คือเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนก็เกิดน้ำท่วม แล้วก็แล้ง แล้วก็มาท่วมในเดือนสิงหาคมอีก เมื่อวันสองวันที่ผ่านมาก็มีน้ำท่วมทางตอนเหนือ ในบริเวณที่ก่อนหน้านี้แล้งมากๆ

ระบบมรสุมที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของเค้านี้มีอยู่ 2 ชนิดครับ คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน) และ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง กุมภาพันธ์) ประเทศไทยเรานี้ถือว่าเป็นไข่ในหิน เพราะดินแดนภาคกลางและภาคเหนือของเราถูกปกป้องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดยประเทศพม่า ทำให้ในขณะที่พม่าน้ำท่วมเละตุ้มเป๊ะ แต่ของเรายังท่วมแบบเอาอยู่ ส่วนทางด้านตะวันออก เรามีเวียดนาม ลาว เขมร คอยปกป้องทำให้พายุที่เข้ามาจากแปซิฟิกลดความรุนแรงลง ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีน้ำในระดับพอดี ไม่มากเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นี่คือสิ่งที่เป็นความได้เปรียบของประเทศไทย ที่ทำให้การเกษตรของเราน่าจะเป็นผู้นำของอาเซียน


อย่างไรก็ตาม ระบบมรสุม ที่เป็นทั้งผู้ให้คุณและให้โทษนี้ กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไป อนาคตของประเทศไทยและพวกเราคนไทย ก็ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความรู้ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แค่ไหน และเราจะจัดการกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้หรือไม่ .....

09 กันยายน 2555

Body Electronics - อิเล็กทรอนิกส์บนผิวกายมนุษย์ (ตอนที่ 5)



วิวัฒนาการของเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้ก้าวหน้าไปมาก ตอนผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เครื่องคอมพิวเตอร์ที่จุฬาฯ มีขนาดใหญ่กว่าห้องนั่งเล่นที่บ้านอีกครับ พอผมขึ้นปี 2 เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) ก็ออกมา ราคาประมาณ 200,000 บาท พอผมจบปริญญาเอก มาใช้คอมพิวเตอร์แบบ Laptop เครื่องแรกในชีวิตราคาเป็นแสน แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ก็วิวัฒนาการมาเป็น notebook มาเป็น netbook มาเป็น Tablet เมื่อก่อนนี้ การจะได้เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์สักเครื่องเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ปัจจุบันในบ้านผมเอง มีเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ มากกว่า 10 เครื่อง ไม่นับสมาร์ทโฟน ซึ่งหากจะถือว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งก็ย่อมได้

แนวโน้มสำคัญอันหนึ่งของอิเล็กทรอนิกส์ก็คือ มันพยายามจะติดตามเราไปทุกที่ เครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop มันตามเราไปไหนมาไหนไม่ได้ ก็เลยต้องมีเครื่อง Laptop ซึ่งในภายหลัง มันก็มารู้ตัวว่ามันใหญ่เกินไปที่จะตามเราไปไหนมาไหนได้สะดวก มันจึงต้องออกลูกมาเป็นเครื่อง notebook ซึ่งตามเราไปไหนสะดวกขึ้นหน่อย โดยมันก็พัฒนามาเป็นเวอร์ชันที่เบามากขึ้นไปอีกในชื่อว่า netbook แต่ในภายหลัง มันก็เพิ่งรู้ตัวว่ามันยังมีขนาดใหญ่เกินไปที่จะติดตามเราไปนั่งชิล ๆ ตามร้านกาแฟ บรรยากาศดีๆ มันก็เลยถูกแทนที่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Tablet

แต่อีกไม่นานหรอกครับ หลังจากเด็ก ป.1 ได้มีโอกาสใช้ Table กันหมดแล้ว พวกเราจะเริ่มรู้สึกว่า Tablet ก็ยังเป็นอะไรที่เทอะทะ พกไปพกมาไม่สะดวก ดังนั้นก้าวต่อไปของคอมพิวเตอร์จะเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Computer) ซึ่งจะทำให้เรามีพลังในการประมวลผลแบบเคลื่อนที่ ที่คล่องตัวและสะดวกสบายขึ้นไปอีก สิ่งที่เราสวมใส่ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นแว่นตา รองเท้า เสื้อผ้า จะมีคอมพิวเตอร์ฝังตัวอยู่

ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องที่กูเกิ้ลกำลังจะทำแว่นตาที่มีจอแสดงผลอยู่บนแว่น ซึ่งเมื่อเราสวมใส่แว่นตานี้แล้ว จะทำให้เสมือนเรามีจอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงหน้า โครงการนี้มีชื่อว่า Google Glass ซึ่งได้ยินมาว่ากูเกิ้ลจะปล่อยแว่นตาแสดงผลนี้ออกมาให้นักพัฒนา App ได้เล่นกันประมาณต้นปี แล้วหลังจากนั้นก็จะปล่อยออกมาให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ซื้อมาใช้ ด้วยสนนราคาประมาณพอๆ กับสมาร์ทโฟนหล่ะครับ เจ้า Google Glass นี้จะทำให้เรามีคอมพิวเตอร์พกพาอยู่ที่แว่นของเราเลย เบื้องต้นที่ผมทราบคือ เราจะควบคุมการทำงานของแว่นตาซึ่งรันอยู่บนระบบปฏิบัติการ android ผ่านทางเสียง และสมาร์ทโฟน แต่ผมเชื่อว่า ในอนาคตเราสามารถควบคุมแว่นตาโดยการใช้ท่าทางของดวงตา (Eye Gesture) เช่น การกรอกลูกตาไปมา การหยีตา หลี่ตา ทำตาซึ้ง ทำตาดุ กระพริบตา โดยแว่นจะต้องจดจำท่าทางเหล่านั้น แล้วแปลความหมายเป็นคำสั่ง เช่น สั่งให้ถ่ายวีดิโอ สั่งให้เปิด App สั่งให้ค้นหาข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

และเมื่อใดก็ตาม ที่เรารู้สึกว่าการสวมใส่คอมพิวเตอร์นั้นยังไม่สะดวกพอ ยุคต่อไปเราก็คงจะต้องการให้คอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เพื่อที่เราจะได้ไปไหนมาไหนกับมันได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้เวลาอาบน้ำ .....


** โครงการ Wearable Intelligence มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติ **



07 กันยายน 2555

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 4)



สิ่งที่ผมมองเห็นในอนาคตก็คือ จะมีอากาศยานขนาดเล็กที่เรียกว่า Micro Air Vehicle หรือ MAV บินว่อนไปทั่วในเรือกสวน ไร่นา ฟาร์มเกษตรต่างๆ เจ้า MAV นี้จะบินสำรวจทำแผนที่ เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมในไร่ ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ลม ความชื้น สารเคมี แมลง สภาพผลผลิต และอื่นๆ มันจะทำงานกันเป็นฝูง บินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม เกษตรกรเพียงแค่หยิบ Tablet ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์แจก แล้วมากำหนดโคออร์ดิเนตบนแผนที่ว่า วันนี้จะให้เจ้า MAV บินไปเก็บข้อมูลที่บริเวณใดบ้าง โดยเจ้า MAV จะทำหน้าที่ของมัน เมื่อมันได้ข้อมูลแล้ว มันจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) กลับมายัง Data Server ของไร่ จากนั้นเครื่องเซิฟเวอร์ในไร่ จะส่งข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (อาจจะเป็นระบบ 3G ของ AIS หรือสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตของ CAT Telecom ก็แล้วแต่) ไปยังระบบคลาวด์ ซึ่งข้อมูลทางด้านการเกษตรของไร่ จะถูกแชร์ต่อให้เกษตรกรอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือคนละจังหวัดก็ได้ ที่สนใจในพืชชนิดเดียวกัน ผ่านทาง Facebook, Twitter, Dropbox และอื่นๆ รวมไปถึง Agri-Net ซึ่งอาจจะมีขึ้นในอนาคต (ผมอาจจะทำก็ได้นะครับ ถ้าไม่มีใครทำ)

อ้าว ... ผมกำลังฝันกลางวันอีกแล้วหรอเนี่ย (จริงๆ ตอนนี้ ตอนที่ผมเขียนอยู่นี้เป็นช่วงหัวค่ำนะครับ) แต่ ... อย่าเพิ่งดูถูกนะครับ สิ่งที่ผมฝันนี้ มันต้องเกิดขึ้นแน่นอนครับ แต่จะเมื่อไหร่ละก็ อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าไม่นานหรอกครับเพราะจริงๆ แล้ว ใครจะเชื่อละครับว่า ตอนนี้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicles หรือ drone ซึ่งมีราคานับร้อยล้านบาท จะถูกก๊อปปี้มาผลิตขายได้ในราคาประมาณหมื่นกว่าบาทแล้วครับ ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน drone พวกนี้จะบินว่อนไปทั่ว เรียกว่ายุคที่ "ใครๆ ก็บินได้" ของจริงมาถึงแล้ว

จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีที่ถือเป็นกุญแจหลักของเจ้า MAV หรือ drone ก็คือระบบ autopilot (ระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ) ซึ่งปัจจุบันระบบนี้มีใช้ในเครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เครื่องบินสามารถบินได้เอง โดยไม่ต้องควบคุมจากนักบินเลยก็ได้ เครื่องบินสามารถบินขึ้นเอง รักษาการบิน และบินลงได้เอง เพียงแต่ตามกฎการบินพาณิชย์นาวีในปัจจุบันนี้ มีข้อบังคับห้ามนักบินใช้ระบบนี้สำหรับบินขึ้น เท่านั้น

ระบบ autopilot นี้ประกอบด้วยเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์วัดความเร็ว ความดันอากาศ ความเฉื่อย มิติทิศทาง สนามแม่เหล็ก ความเร่ง และพิกัด (GPS) ซึ่งในปัจจุบันนี้ เซ็นเซอร์เหล่านี้ทั้งหมดไปอยู่รวมกันในชิพเพียงชิพเดียวก็ได้ ด้วยสนนราคาเพียง 600 บาทเท่านั้น อะไรจะขนาดนั้น สมองกลของ drone ขนาดเล็กในปัจจุบันก็เอามาจากพวกสมาร์ทโฟนทั้งหลายล่ะครับ ทำให้นักเทคโนโลยีทางด้านนี้ต่างเรียกเจ้า MAV หรือ drone ขนาดเล็กเหล่านี้ว่า สมาร์ทโฟนบินได้ 

อีกไม่นานครับ เจ้าสมาร์ทโฟนบินได้ จะขึ้นไปวาดลวดลายบนท้องฟ้า เพื่อนำพาเกษตรไทยให้เป็นเจ้าอาเซียน

04 กันยายน 2555

The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 4)



เมื่อก่อน เรามักคิดว่าเมืองจีนเป็นประเทศที่มีมลภาวะสูง และมีการใช้พลังงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่วันนี้ความคิดนี้ล้าสมัยแล้วครับ แถมกลับกันด้วย ตอนนี้ประเทศไทยกลับกลายมาเป็นประเทศที่สิ่งแวดล้อมนับวันจะแย่กว่าเมืองจีน แถมคนไทยก็กลายเป็นประชากรที่มีการใช้พลังงานด้อยประสิทธิภาพเกือบจะที่สุดในโลก

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีประชากร 1,300 ล้านคน มากกว่าครึ่งคือประมาณ 690 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนได้สลัดทิ้งสังคม ชนบทไปเรียบร้อยแล้ว (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือ 50%) ก่อนหน้านี้คือในปี ค.ศ. 1980 ประเทศจีนมีประชากรอาศัยในเมืองเพียง 20% เท่านั้น แต่ในอีก 18 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ. 2030 ประมาณกันว่า จีนจะมีประชากรเมืองมากถึง 75% ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายนักวางผังเมืองของจีนเป็นอย่างมาก เมืองกว่า 650 เมืองในประเทศจีนกำลังสาละวนอยู่กับการก่อสร้าง เพื่อรองรับประชากรที่เคลื่อนย้ายจากชนบทมาสู่เมือง การเติบโตในแนวดิ่งของประเทศนี้จึงมีอัตราสูงที่สุดในโลก 

รัฐบาลจีนกำลังให้ความสนใจกับแนวคิดในการสร้างเมืองใหม่ เป็นเมืองสะอาด มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่เรียกว่า Ecocities คนไทยเอามาแปลเป็น เมืองสีเขียว เมืองนิเวศน์ เมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมืองปลอดมลพิษ ซึ่งสำหรับผมยังไม่ค่อยถูกใจกับคำแปลเท่าไหร่ครับ ดังนั้นผมขอให้ทับศัพท์ เหมือนกับที่คนไทยเราเรียก Eco car ว่า อีโค่คาร์ นะครับ โดยโครงการแรกๆ ที่จีนจะสร้างนั้นมีชื่อว่า Tianjin Eco-city ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีน กับ สิงคโปร์ ตั้งเป้าว่าในปี ค.ศ. 2020 จะสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน

คนจีนชอบทำสิ่งท้าทาย แทนที่รัฐบาลจีนจะสร้าง Tianjin Eco-city บนผืนดินสะอาดที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ แต่กลับไปเลือกที่ดินที่เกิดจากการถมขยะ สกปรกและถูกทอดทิ้ง โดยสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นถูกทำลายจนมนุษย์ไม่อาจอาศัยได้ นำมาสร้างเมืองที่สะอาดที่สุดในโลก ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะแสดงให้โลกเห็นว่าคนจีนทำได้ ซึ่งแน่นอนในอนาคต เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปปรับปรุงที่ดินที่เสียแล้ว ที่ไหนก็ได้ในโลก

โครงการนี้ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการทำความสะอาดที่ดิน เปลี่ยนที่ดินจากที่ถมขยะ เป็นทะเลสาบใสสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค โดยการใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ เมือง Tianjin Eco-city จะใช้พลังงานสะอาดทั้งจากเซลล์สุริยะ กังหันลม และเทอร์โมอิเล็กทริค (ระบบกำเนิดไฟฟ้าจากความร้อน) ประมาณ 20% เมืองนี้จะเป็นเมืองที่เรียกว่า Smart City จริงๆ เพราะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ทั่วเมือง ไฟฟ้าในเมืองหลายๆ จุดจะปิดเมื่อไม่มีผู้คน และจะเปิดเองเมื่อมีเสียงคนเดิน หน้าต่างของอาคารจะเปิดปิดม่านแสงเอง เพื่อควบคุมปริมาณแสงและอุณหภูมิในอาคาร มีระบบเก็บขยะอัตโนมัติ ที่ผมชอบมากๆ คือ เมืองนี้จะมีการใช้รถยนต์ไร้คนขับ โดยรถยนต์จะสื่อสารกันเป็นเครือข่ายและวิ่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง อย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ประชากรของเมืองไม่จำเป็นต้องขับรถเอง ช่วยลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ

เมืองนี้น่าอยู่จริงๆ ครับ มีทางขี่จักรยาน และสวนธารณะทั่วเมือง ย่านดาวน์ทาวน์ของเมือง สามารถไปด้วยรถรางหรือขี่จักรยานอย่างสะดวกสบาย เมืองนี้จะดึงดูดอุตสาหกรรมสีเขียว บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ตอนนี้มีบริษัททยอยเข้าไปอยู่แล้ว 600 บริษัท เมื่อเทียบกับเมือง Ecocities อื่นๆ ที่กำลังสร้างกันทั่วโลก เมือง Tianjin Ecocity นี้ถือว่าทำทีหลังแต่ดังกว่า เพราะระหว่างก่อสร้างก็มีคนทยอยเข้าไปอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เมืองนี้เป็นบ้านที่ 2 ของคนรวยในปักกิ่ง เมืองนี้จึงมีการสำรองพื้นที่ 20% ให้คนจนอยู่ได้ แนวคิดของเมืองนี้คือ การเป็นเมืองสีเขียวต้องไม่ใช่สิ่งหรูหรา แต่เป็นสิ่งที่แสวงหาได้


01 กันยายน 2555

9th European Conference on Precision Agriculture



ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน สหประชาชาติได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารโลก ว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกอย่างไร มนุษยชาติต้องการการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีเกษตรครั้งใหญ่ ถ้าอยากจะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกจำนวนมหึมานี้  

เทคโนโลยีหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเป็นความหวังของมนุษยชาติในการฝ่าวิกฤตด้านอาหาร ก็คือ เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า พืชพันธุ์ที่ปลูก และ สภาพล้อมรอบ (ดิน น้ำ แสง อากาศ) ในไร่นา มีความแตกต่างกัน ในแต่ละบริเวณ แม้จะอยู่ในไร่เดียวกันก็ตาม สภาพล้อมรอบที่แตกต่างนี้ มีผลให้การเกิดผลผลิต แตกต่างกันได้ ดังนั้นการปรับการดูแลให้เหมาะสมกับ สภาพที่แตกต่างนั้น จะทำให้สามารถสร้างผลผลิต อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เกษตรแม่นยำสูงจึงเป็นกลยุทธ์ในการทำการเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรสามารถจะปรับการใช้ทรัพยากร ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ย่อยๆ รวมไปถึงการดูแล อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น การหว่านเมล็ดพืช การให้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การไถพรวนดิน การรดน้ำ การคัดเลือกผลผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเกษตรแม่นยำสูงในโลกเราตอนนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีการจัดการประชุมทางด้านเกษตรแม่นยำสูงอย่างสม่ำเสมอ ในปีหน้า ค.ศ. 2013 นี้ ทางยุโรปจะมีการจัดการประชุมวิชาการที่มีชื่อว่า 9th European Conference on Precision Agriculture ณ เมือง Lleida แคว้นคาตาลันยา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 7 - 11 กรกฎาคม 2556 จริงๆ ก็ยังอีกนานครับ แต่เค้ามีกำหนดส่งบทคัดย่อในเวลาใกล้ๆ นี่เอง คือภายใน 30 กันยายน 2555

สำหรับหัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ ได้แก่

Soil and crop proximal sensors
Remote sensing applications in precision agriculture
Spatial variability and mapping
  Variable-rate application equipment
  GNSS, guidance systems and machinery
  Robotics and new technologies
  Management, modelling and decision support systems
  Precision crop protection
  Advances in precision fructiculture/ viticulture/ citriculture/ oliviculture and horticulture in general
  Advances in precision irrigation
  Experimental designs and data analyses
  Economics and sustainability of precision agriculture
  Emerging issues in precision agriculture (energy, life cycle analysis, carbon and water footprint, etc.)
  Practical adoption of precision agriculture
  Education and training in precision agriculture