09 มีนาคม 2555

Geoengineering - เทคโนโลยีเปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี (ตอนที่ 11)


Geoengineering หรือ วิศวกรรมดาวเคราะห์ เป็นศาสตร์ในการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ หลากหลายชนิดทั้ง ฟิสิกส์ โยธา อวกาศวิศวกรรมธรณี เคมี นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และอื่นๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเคราะห์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำให้ดาวเคราะห์เป้าหมายเหมาะที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ ในอดีตเราเคยมีแนวคิดจะนำ Geoengineering ไปใช้กับดาวอังคาร แต่ปัจจุบันดาวเคราะห์ที่ต้องการเทคโนโลยีนี้ก็คือ โลกที่เราอาศัยอยู่นี่แหล่ะครับ เพื่อที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ บทความตอนที่ผ่านๆ มา ผมได้ทยอยนำเอาความก้าวหน้าทางด้าน Geoengineering ที่สามารถนำมาใช้แก้โลกร้อนได้ มีตั้งแต่ การปลูกป่าในทะเล การสร้างโดมพลาสติกครอบเมืองทั้งหมด แล้วใช้ระบบปรับอากาศแทน การสร้างร่มบังแดดในอวกาศให้โลก การใช้ฝูงเรือสร้างเมฆบังแดดในชั้นบรรยากาศ ไปจนกระทั่งการสร้างเมืองลอยน้ำเพื่อย้ายไปอยู่ในทะเล เป็นต้น วันนี้เราจะกลับมาคุยเรื่อง Geoengineering กันต่อนะครับ หลังจากไม่ได้พูดเรื่องนี้มาเสียนาน

เทคโนโลยีที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เกิดขึ้นจากการที่นักธุรกิจหัวสมัยใหม่กลุ่มหนึ่ง เริ่มเบื่อกับวิธีการแก้ปัญหาโลกร้อนแบบหน่อมแน้ม ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกชีวภาพ ไบโอดีเซล สินค้าลดโลกร้อนประเภทต่างๆ ที่แห่กันออกมาทำตลาด หรือแม้กระทั่งธุรกิจที่หากินกับโลกร้อน ประเภท คาร์บอนเครดิต หรือ พวกจัดการคาร์บอนฟรุตพริ้น พวกเขามองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เป็นแก่นสาร ไม่ยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบขอไปที ซึ่งทำให้ตายก็ไม่สามารถแก้โลกร้อนได้ พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อแก้โลกร้อนแบบฉีกไอเดียเก่าๆ กระจุย กระเจิง ไปเลยครับ หลักคิดของพวกเขาก็ง่ายๆ ไม่มีอะไร กล่าวคือ ในเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน เราก็กำจัดมันเสีย ถ้ามีเทคโนโลยีนี้ซะอย่าง ใครจะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากแค่ไหน จะทำอะไรก็ปล่อยไป ไม่ยาก เพียงไปดักจับและกำจัดมันออกไปเสียก็สิ้นเรื่อง ฟังดูง่ายนะครับ แต่ความคิดของพวกเขาก็ไม่น่าจะผิดเสียทีเดียว หากพิจารณาว่า มหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง บิล เกตส์ ได้เข้ามาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของพวกเขา

ก่อนหน้านี้ บิล เกตส์ ก็ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรจำนวน 5 เรื่อง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการหยุดพายุเฮอริเคน ด้วยการนำอุปกรณ์ที่สามารถปั๊มน้ำทะเลที่อยู่บนผิวน้ำ ให้ไหลลงไปสู่บริเวณใต้น้ำที่ลึกลงไป ซึ่งจะมีอุณหภูมิต่ำกว่ามาก หากนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปปล่อยด้วยปริมาณที่มากพอ วิธีการนี้จะช่วยในการลดอุณหภูมิของผิวมหาสมุทร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อตัวของพายุเฮอริเคน ในสิทธิบัตรนี้ยังเสนอวิธีการที่จะนำเงินทุนมาสร้างและปล่อยอุปกรณ์ดังกล่าวลงไปในทะเล ด้วยการเก็บหัวคิวจากค่าประกันความเสียหายที่เกิดจากพายุเฮอริเคน ในบริเวณที่มีโอกาสประสบภัยสูง

ดังนั้นการที่ บิล เกตส์ เข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนแก่บริษัทตั้งใหม่ ที่จะประกอบธุรกิจดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้มีอนาคต และการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยเทคโนโลยี Geoengineering เป็นสิ่งที่จะเป็นกระแสหลักในอนาคต บริษัทที่ว่านี้มีชื่อว่า Carbon Engineering ซึ่งตั้งขึ้นโดย เดวิด ไคธ์ (David Keith) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองคาลการี (Calgary) ในแคนาดา ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านน้ำมันและก๊าซของแคนาดา ไคธ์ เป็นนักฟิสิกส์และนักภูมิอากาศวิทยา และยังเป็นศาสตราจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary) อีกด้วย ไคธ์ทำวิจัยเพื่อที่จะพัฒนากระบวนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะลดต้นทุนในการดักจับก๊าซ ซึ่งปัจจุบันมีราคาแพงถึง 30,000 บาทต่อตัน ให้ลดลงไปต่ำกว่า 3,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่บริษัทน้ำมันยินดีจ่ายในการซื้อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ ทั้งนี้ ได้มีผลงานวิจัยที่ระบุว่า เราสามารถที่จะลดต้นทุนในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ที่ราคาประมาณ 450 บาทต่อตัน ได้ด้วยซ้ำ

บริษัท Carbon Engineering นี้ มีเป้าหมายเชิงธุรกิจที่จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ดักจับมานั้นไปขายให้แก่บริษัทขุดเจาะน้ำมัน โดยบริษัทขุดเจาะน้ำมันจะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้ดิน เข้าไปในหลุมเจาะ เพื่อเข้าไปแทนที่น้ำมันที่ขุดเจาะขึ้นมาใช้ ซึ่งจะทำให้ได้น้ำมันออกมามากขึ้น เทคโนโลยีนี้เรียกว่า Enhanced Oil Recovery (EOR) ซึ่งจะทำให้ได้น้ำมันมากกว่าปกติ โดยรัฐบาลสหรัฐประมาณว่า การขุดเจาะแบบอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปแทนที่น้ำมันนั้น จะทำให้ได้น้ำมันมากถึง 89 พันล้านบาร์เรล ในประเทศสหรัฐอเมริกา มากกว่าเดิมถึง 4 เท่า จะเห็นได้ว่า ใครก็ตามที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พร้อมขายสำหรับการขุดเจาะน้ำมันแบบนี้ในอนาคต จะรวยแค่ไหน

การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเคยถูกปรามาสว่าไม่มีทางเป็นไปได้ กำลังจะกลายเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เป็นเทคโนโลยีที่แก้โลกร้อนได้จริง จากการเปลี่ยนมุมมองว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นขยะ ให้กลายมาเป็นทรัพยากรที่มีค่า มีราคา นั่นเอง โดยโรงงานดักจับนี้สามารถตั้งที่ไหนก็ได้ในโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น