01 มีนาคม 2555

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 11)


ในปี พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุง กษัตริย์ของพม่าได้กรีฑาทัพเข้ามาบุกประเทศไทย มีกองกำลังอันแสนยานุภาพถึง 9 ทัพ รวมกำลังพลมากถึง 144,000 นาย โดยมีเป้าหมายที่จะทำลายกรุงเทพมหานคร และราชอาณาจักรสยามให้พินาศย่อยยับ เหมือนเช่นที่เคยทำกับกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้แต่งทัพออกไปตั้งรับที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า หรือที่เรามักคุ้นเคยกันในนามของ "เขาชนไก่" จ.กาญจนบุรี โดยมี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่ทัพใหญ่ ทัพไทยได้เข้าไปสกัดกั้นไม่ให้ทัพพม่าทั้ง 9 ทัพได้เข้ามารวบรวมกำลังพลกันได้ อีกทั้งยังได้จัดกำลังไปตัดการลำเลียงเสบียงของพม่าเพื่อให้กองทัพขาดเสบียงอาหาร เนื่องจากกำลังฝ่ายไทยมีน้อยกว่าพม่าค่อนข้างมาก (2-3 เท่าตัว) จึงได้วางอุบาย โดยทำเป็นถอยกำลังออกในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งเช้าก็ให้ทหารเดินเข้ามาผลัดเวร เสมือนว่ามีกำลังมากกว่ามาเพิ่มเติมอยู่เสมอ เมื่อทัพพม่าเริ่มขาดแคลนเสบียงอาหารเนื่องจากมีกำลังพลจำนวนมาก แต่ถูกตัดเสบียงโดยทหารไทยตลอดเวลา ที่สำคัญพม่าคิดว่ากองทัพไทยมีกำลังมากกว่า ทำให้ไม่กล้าจะบุกเข้ามาโจมตี รีๆ รอๆ จะให้กองทัพที่เหลือเข้ามาสมทบ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาทเมื่อสบโอกาสจึงได้โจมตีทัพพม่าจนแตกกระเจิง และถอยทัพกลับไปในที่สุด

สำหรับแม่ทัพนายกองสมัยใหม่ ท่านเหล่านั้นอาจคิดว่ากลอุบายลวงตานิ่มๆ แบบนี้ถึงจะใช้ได้กับสงครามเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว แต่มันคงไม่สามารถใช้กับการรบในสมัยนี้ได้หรอก แต่เมื่อสักประมาณ 2 สัปดาห์ที่แล้วนี่เอง DARPA (หน่วยงานให้ทุนวิจัยทางด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกา) ได้ประกาศจะให้ทุนวิจัยที่มีมูลค่า 120 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะใช้หลอกลวงการรับรู้ของข้าศึก เพื่อที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดการมึนงง สับสน จนทำให้มีการตัดสินใจหรือปฏิบัติการล่าช้า ผิดพลาด หรือแม้กระทั่ง ยุติปฏิบัติการไปในที่สุด

DARPA มองว่าหากเราเข้าใจการทำงานของสมองในการรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างถ่องแท้ เราก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถสร้างภาพลวงทั้งทางการมองเห็น และการได้ยิน ต่อพลรบของข้าศึกได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอังกฤษได้ว่าจ้างให้นักมายากล สร้างภาพลวงตาว่ามีเรือดำน้ำ และกองทัพรถถัง จนทำให้กองทัพเยอรมันเกิดการลังเลในการบุกโจมตี DARPA ต้องการเข้าใจกลไกการทำงานของการรับรู้ ความคิด การตัดสินใจ เพื่อที่จะจัดการกับการรับรู้ของพลรบฝ่ายตรงข้ามได้ ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดดังกล่าว เช่น การปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในหัวโดยตรง เพื่อให้คนที่ได้ยินเสียง มีความรู้สึกว่าเป็นเสียงที่เกิดขึ้นมาเองในหัว เหมือนมีพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาบอกหรือพูดให้ได้ยินจากข้างใน ซึ่งเราสามารถใส่เสียงที่เหมือนพระเจ้ามาบอกว่า "วางอาวุธเถอะลูก ยอมแพ้เถิดเจ้า" อะไรทำนองนั้น หรือการปล่อยคลื่นไมโครเวฟเข้าสู่สมองเพื่อให้เกิดการมึนงง ตัดสินใจช้า จนกระทั่งอาเจียน ทำให้กองทัพข้าศึกอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรงที่จะต่อสู้

ย้อนกลับไปเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว เมื่อพระเจ้าปดุงได้ตัดสินใจถอนทัพกลับไปนั้น เทคโนโลยีหลอกลวงการรับรู้ของข้าศึก ได้รักษาชีวิตของทหารทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายไทยได้จำนวนมาก การครอบครองเทคโนโลยีที่ทำให้สงครามสามารถยุติได้โดยสูญเสียชีวิตมนุษย์น้อยที่สุด กำลังเป็นสิ่งที่กองทัพในอนาคตทุกแห่งในโลกต้องการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น