01 มกราคม 2554

Making Things Love - ทำโลกนี้ให้มีแต่รัก (ตอนที่ 3)



ในอนาคตไม่กี่ปีต่อจากนี้ วิศวกรรมอารมณ์จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ผู้คนใช้ความรู้สึก และอารมณ์ในการเลือกจับจ่ายสินค้า ผู้ที่มีความรู้หรือเทคโนโลยีทางด้านนี้ จะเป็นผู้กำชัยในการครองใจผู้บริโภค ทำให้ผู้ซื้อเกิดความผูกพันทางด้านอารมณ์กับสินค้า หรือถึงขั้นอินเลิฟ จนไม่อาจเปลี่ยนไปใช้สินค้าตัวเลือกอื่นๆ อีก

งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีความรู้สึกและวิศวกรรมอารมณ์นี้มีลักษณะเป็นสหสาขาวิชา ที่หลอมรวมและบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์อย่างแท้จริง ทั้งจากศาสตร์ทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์การรับรู้ (Cognitive Science) ประสาทวิทยา (Neuroscience) สังคมวิทยา (Sociology) ภาษาศาสตร์ ครุศาสตร์ สรีรวิทยา ปรัชญา แม้กระทั่งจริยศาสตร์ มันจึงเป็นเขตแดนรอยต่อระหว่างวิทยาศาสตร์ กับ เรื่องของจิตใจ อย่างแท้จริง การจะพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้ จึงต้องอาศัยความรู้จากศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยีความรู้สึกและวิศวกรรมอารมณ์ ก็จะมีผลสะท้อนกลับ ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ด้วย เช่น หากเรามีเทคโนโลยีในการตรวจวัดและบันทึกอารมณ์ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ในแต่ละวัน ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก็อาจนำกลับมาเพื่อปรับปรุงโมเดล และทฤษฎีต่างๆ ที่ใช้อธิบายความรู้สึกของมนุษย์ได้

นักวิเคราะห์ประเมินกันว่า คงจะต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีแหล่ะครับ กว่าเราจะสามารถพัฒนาโมเดลทางคอมพิวเตอร์ของอารมณ์มนุษย์ได้ จะว่าไป ทุกวันนี้ มีการนำเทคโนโลยีทางด้านนี้มาใช้แล้วทั้งๆ ที่เราก็ยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอารมณ์ของมนุษย์กันไม่มาก ท่านผู้อ่านอาจจะคาดกันไม่ถึงนะครับว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีการใช้งบประมาณมากถึง 400 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2006 เพื่อที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์วิเคราะห์การพูดของมนุษย์ของ Call Center ต่างๆ รวมไปถึงน้ำเสียงและอารมณ์ความรู้สึกที่แฝงมากับคำพูดเหล่านั้น เพื่อที่ทางศูนย์บริการลูกค้าจะได้สามารถประมวลผลความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถนำมาสู่การปรับปรุงระบบบริการได้ แม้ว่าโมเดลคอมพิวเตอร์ปัจจุบันอาจจะยังไม่ละเอียดถูกต้องพอที่จะสามารถ ระบุอารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ที่มีอย่างหลากหลายมากก็ตาม แต่มันก็ยังมีความแม่นยำพอที่จะตรวจพบหลายๆ กรณีที่สำคัญพอที่จะทำให้ศูนย์บริการลูกค้าต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การตรวจจับหรือตรวจวัดอารมณ์เป็นเรื่องละเอียดซับซ้อน ใบหน้าของมนุษย์ที่แสดงออกมา แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การยิ้ม ก็มีความหมายได้หลากหลายมากๆ ขึ้นกับอายุ พื้นฐานการศึกษา และวัฒนธรรม เอาง่ายๆ อย่างเช่นคนไทยเรา ที่ฝรั่งเขาเรียกว่าสยามเมืองยิ้ม เพราะคนไทยเป็นคนยิ้มเก่ง แม้แต่บางเรื่องที่ฝรั่งมองว่าไม่น่าจะยิ้ม คนไทยเราก็ยังยิ้ม ผมเคยดูโทรทัศน์เห็นตำรวจนำผู้ต้องหาที่เพิ่งก่อคดีมาออกข่าว หลายๆ ครั้งเรากลับเห็นผู้ต้องหานั่งยิ้มให้กล้อง ทั้งๆ ที่ตัวเองทำความผิดที่สมควรได้รับการลงโทษ ลักษณะนี้ คนไทยเราดูทีวี เราก็จะพอเข้าใจ แต่ฝรั่งเห็นก็จะแปลกใจมากเลย ... โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตรวจสอบใบหน้าจึงต้องมีการโมเดลความหลากหลายตรงนี้เข้าไปด้วย ซึ่งจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยครับ

เรื่องนี้ ยังมีต่ออีกหลายตอนนะครับ ....

2 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีหลังสงกรานต์ค่ะ
    คงจะดีค่ะถ้าเทคโนโลยีตามที่อาจารย์กล่าวสามารถสื่อารมณ์และความรู้สึกของผู้บริโภคผ่านคอมพิวเตอร์ไอ้อย่างเช่น ซื้อน้ำหอมก็สามารถดมกลิ่นหนอมออกมาจากจอคอมได้ คงจะดีน่ะค่ะ

    ตอบลบ