เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2552) ประธานฝ่ายบริหารของบริษัทกูเกิ้ล นายอีริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) ได้กล่าวปาฐกถาในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม (G-20) ว่าแต่นี้ต่อไป เกมส์แบบผู้เล่นหลายคน หรือ multi-player games จะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญทางธุรกิจ มันจะเป็นของที่มีประโยชน์มากในวงการฝึกอบรม การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะการร่วมกันทำงานเป็นทีมเพื่อรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ชมิดท์ได้พูดอย่างน่าตื่นเต้นว่า "อีกไม่นานหรอกครับ ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกออนไลน์ ก็จะเหมือนเกมส์มัลติเพลเยอร์ ... และถ้าตอนนี้ผมเป็นเด็กอายุสัก 15 ปี สิ่งนี้จะเป็นสิ่งแรกที่ผมจะทำ"
ใครก็ตามที่มองว่าเกมส์เป็นเรื่องไม่มีประโยชน์หรือไร้สาระ คิดใหม่ได้นะครับ ตลาดเกมส์ตอนนี้มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณของประเทศไทย จำนวนคนเล่นเกมส์ Farmville แค่อย่างเดียวมีคนเล่นมากถึง 80 ล้านคน มากกว่าประชากรของประเทศไทยเสียอีก และถ้าวันไหนเกมส์นี้เข้าไปเล่นไม่ได้ ก็จะมีคนเดือดร้อนมากกว่า Twitter หายไปเสียอีกครับ เกมส์สะท้านโลกอย่างเช่น Pac-man ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบ Popular Culture ของผู้คนในยุค 80 ไม่ต่างจาก K-Pop และตุ๊กตาบลายธ์ในสมัยนี้ ในสมัยนั้น Pac-man ได้หล่อหลอมเหล่าวัยรุ่นในยุคนั้นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว โดย 94% ของคนที่เล่นเกมส์ในสมัยนั้นต้องเคยเล่นเกมส์นี้ ซึ่งตั้งแต่นั้นมาก็ยังไม่เคยมีเกมส์อะไรที่ทำได้แบบนี้อีกเลย
ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเกมส์มาก ที่มหาวิทยาลัย Tokyo Polytechnic University (TPU) มีการเปิดภาควิชาเกมส์ขึ้นมาเพื่อผลิตวิศวกรทางด้านเกมส์ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยได้เชิญศาสตราจารย์ Toru Iwatani ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเกมส์ Pac-man อันโด่งดังเมื่อปี ค.ศ. 1980 มาเป็นหัวหน้าภาควิชา โดยปัจจุบัน TPU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งในเรื่องของเกมส์ การ์ตูน อะนิเมชัน ตัวผมเองก็เคยไปอยู่ทำวิจัยระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยนี้ครับ ได้มีโอกาสไปดูเขาทำเรื่องเล่นๆ ให้เป็นเรื่องจริงๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เด็กๆ ปริญญาตรีที่นั่น นั่งเล่นเกมส์กันในห้องเรียนอย่างสนุกสนาน พวกเขากำลังฝึกฝนเพื่อจะเป็นนักออกแบบเกมส์มืออาชีพ
ในวงการเกมส์ เขาจะมีการประชุมวิชาการทางด้านเกมส์กันทุกปีครับ นักวิจัยทางด้านเกมส์สามารถส่งผลงานวิชาการเพื่อไปเปิดเผยในที่ประชุม ซึ่งผมขอบอกว่าการรับผลงานวิจัยในที่ประชุมบางแห่ง มีความเข้มข้นและยากเย็นเข็นใจกว่าการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกครับ เช่น งานที่มีชื่อว่า GDC (Game Developers Conference) เขาจะพิถีพิถันกับผลงานที่ไปนำเสนอมาก ขนาดที่ว่าต้องใหม่จริงๆ และต้องทำให้คนที่มาฟังได้ประโยชน์จริงๆ
ผมจะมาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ .....
แค่คิดก็สนุกแล้ว...ถ้าในอนาคตซักวันหนึ่ง..ทำอะไรก็เป็นเกมส์ไปหมด...จากเรื่องที่มันควรจะเป็นเรื่องที่เครียด ...ก็กลายเป็นเรื่องสนุก..เป็นเกมส์ น่ารัก น่าทำไปซะหมด...เมื่อเอามันมารวมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตประจำวันของเราได้อย่างสร้างสรรค์และลงตัว
ตอบลบ