17 กันยายน 2553

Collective Intelligence - ปัญญาสะสม (ตอนที่ 3)


เมื่อคราวก่อน ผมได้ทิ้งปริศนาเอาไว้ให้คิดกันเล่นๆ นะครับว่า ทำไมความเฉลียวฉลาดของประชากร และเหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการ ถึงไม่เกี่ยวกับความเจริญของประเทศ ทั้งนี้ ประเทศที่มีคนฉลาดน้อยกว่าประเทศไทย แถมไม่ได้เหรียญรางวัลโอลิมปิก ก็อาจจะมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงความเจริญทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศไทยได้อย่างสบายๆ

จริงๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีหลากหลายมาก เพื่อใช้อธิบายว่าทำไมมนุษย์สายพันธุ์นีอันเดอธาล (Neanderthals) ที่ครองโลกเมื่อ 300,000 ปีที่แล้ว ถึงสูญสิ้นเผ่าพันธุ์เมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว โดยถูกแทนที่ด้วยบรรพบุรุษของพวกเรา ทั้งๆ ที่มนุษย์นีอันเดอธาลมีขนาดของสมองใหญ่กว่าพวกเรา และเชื่อกันว่ามีความเฉลียวฉลาดกว่าพวกเราเสียอีก แต่ทฤษฎีหนึ่งที่น่าเชื่อถือนั้น มีชื่อว่า "the Great Leap Forward" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่บรรพบุรุษของเรา ได้เกิดการยกเครื่องทางด้านสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ มีการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างขนานใหญ่ จนทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถจะมาต่อกรกับบรรพบุรุษของเราได้เลย ทั้งๆ ที่ฝ่ายนั้นมีความเฉลียวฉลาดมากกว่าพวกเรา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

หลังจากที่บรรพบุรุษของเราได้อพยพออกจากแอฟริกา เมื่อ 100,000 ปีที่แล้ว พวกเขาเหล่านั้นต้องระหกระเหิน ระเหเร่ร่อน ออกไปอยู่ตามที่สถานที่ต่างๆ ในทวีปเอเชีย เนื่องจากพวกนีอันเดอธาลได้ยึดครองยุโรปไว้เกือบหมดแล้ว บรรพบุรุษของเราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องกระจัดกระจายกันไปอยู่ตามแหล่งหากินต่างๆ ในเอเชีย เพราะในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยีของบรรพบุรุษเรา มิอาจจะต่อกรกับมนุษย์นีอันเดอธาลได้เลย แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปอีก 55,000 ปี บรรพบุรุษของเราได้กลับไปที่ทวีปยุโรปอีกครั้ง พร้อมกับเทคโนโลยีที่สูงกว่า และได้ขจัดมนุษย์นีอันเดอธาลออกไปจนหมด ... เกิดอะไรขึ้นในช่วง 55,000 ปีนั้น ทำไมพวกเราที่มีความฉลาดมากกว่า ถึงได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดจนอีกฝ่ายไม่สามารถจะตั้งตัวได้ติด

ในระหว่างที่บรรพบุรุษของเราอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายไปทั่วทวีปเอเชียนั้น แต่ละชนเผ่าก็อยู่อาศัยหากินกันไปตามแหล่งต่างๆ ในช่วงนี้ได้เกิดการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่ค่อนข้างแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ ทั้งนี้ได้เกิดปรากฎการณ์หนึ่งขึ้นก็คือ ผู้คนเหล่านั้นได้มีการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ผ่านการ "เดินทางท่องเที่ยว" และ "ค้าขาย" มนุษย์ที่อยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร สามารถสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการดำรงชีพ ด้วยการ "เลียนแบบ" สิ่งที่มนุษย์แหล่งอื่นๆ ได้ทำขึ้นก่อนหน้า โดยไม่ต้องไปเรียนรู้ใหม่ การ "แลกเปลี่ยน" สินค้าเกิดขึ้นพร้อมๆกับ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เกิดการเลียนแบบกัน เกิดการต่อยอดนำสิ่งที่ทำไว้แล้ว มาพัฒนาขึ้นให้เหมาะสมกับถิ่นที่อยู่ ดังนั้นทำให้เผ่าพันธุ์ของเราเกิดสิ่งที่เรียกว่า "Collection of Brains" ซึ่งทำให้สามารถสร้างเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากๆ ได้ ต่างจากพวกนีอันเดอธาลที่มีสมองใหญ่กว่า แต่ไม่สามารถที่จะระดมสมองหลายๆ สมองมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ สุดท้ายก็ต้องสูญพันธุ์

"การแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้" ผสมผสานกับการ "เลียนแบบ" และ "ต่อยอด" นี่เองครับ ที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของบรรพบุรุษเรา ในวงการวิชาการและวงการเทคโนโลยี สาขาไหนที่เจริญมากๆ สังเกตว่าจะมีการจัด Conference บ่อยกว่าสาขาที่ไม่เจริญ การได้ไปเห็นไปฟังคนที่มาพูดใน conference บางทีช่วยทำให้เราประหยัดเวลาวิจัยได้เป็นปีเลย ด้วยการ "แลกเปลี่ยน" "เลียนแบบ" และ "ต่อยอด" นี่เอง ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น