13 กันยายน 2553

Smart Dust - ฝุ่นฉลาด (ตอนที่ 6)


ในตอนที่ 5 ของบทความซีรี่ย์นี้ ผมได้แนะนำกลุ่มวิจัยที่มีชื่อเสียงทางด้าน Micro Aerial Vehicle หรือ MAV แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์กันไปแล้ว สำหรับวันนี้ผมขอแนะนำกลุ่มวิจัยระดับแนวหน้าของโลก เป็นกลุ่มระดับยอดหัวกะทิที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจังมาอย่างยาวนาน ซึ่งก็ยังคงอยู่ในทวีปยุโรปครับ โดยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สังกัดสถาบันที่มีชื่อว่า The Swiss Federal Institutes of Technology ซึ่งมีกลุ่มวิจัยที่ทำงานทางด้านนี้เยอะมาก เขาเลยมารวมกลุ่มกันจากหลายๆ แห่งตั้งเป็น Aerial Robotics Initiative

ในวันนี้ผมขอแนะนำงานวิจัยในกลุ่มวิจัยของห้องปฏิบัติการระบบอัจฉริยะ (Laboratory of Intelligent Systems) ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดาริโอ ฟลอเรอาโน (Professor Dario Floreano) เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งท่านได้นำทีมงานของท่าน ค้นคว้าและพัฒนาในเรื่องของระบบอัจฉริยะ ใน 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

- หุ่นยนต์บินได้ (Flying Robots)
ป็นเรื่องถนัดและโดดเด่นที่สุดของกลุ่มวิจัยนี้เลยครับ ที่สำคัญกลุ่มวิจัยนี้มีความก้าวหน้าที่สุดในเรื่องของการใช้ภาพ หรือการมองเห็นของหุ่นยนต์ในการนำทาง และบินไปหาเป้าหมาย โดยที่หุ่นเหล่านี้มีน้ำหนักเพียง 1.5-30 กรัมเท่านั้นเอง ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ทางกลุ่มจะต้องพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านอากาศพลศาสตร์ของแมลงหรือนก ระบบเครื่องกลไฟฟ้าขนาดจิ๋ว การประมวลผลภาพ เป็นต้น

- วิวัฒนาการประดิษฐ์ (Artificial Evolution)
เรื่องวิวัฒนาการประดิษฐ์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ เพราะมันเป็นศาสตร์หัวใจของหุ่นยนต์ยุคหน้าเลยทีเดียว หากเรามีเทคโนโลยีทางด้านนี้ ก็จะทำให้เรามีขีดความสามารถที่จะทำให้หุ่นยนต์สามารถมีวิวัฒนาการได้เองเหมือนสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ โดยกลุ่มวิจัยนี้มีความชำนาญทางด้านฮาร์ดแวร์ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ อัลกอริทึมในการเรียนรู้ตัวเอง และการทำวิศวกรรมย้อนกลับของระบบชีววิทยา (เช่น ระบบเมตาบอลิซึม ระบบพันธุกรรม)

- ระบบสังคม (Social Systems)
กลุ่มวิจัยนี้ ยังมีการทำงานทางด้านสังคมศาสตร์ด้วยนะครับ แต่เป็นสังคมศาสตร์ของหุ่นยนต์ โดยความร่วมมือกับนักชีววิทยาวิวัฒนาการ และนักชีววิทยาเชิงพฤติกรรม ทำให้กลุ่มวิจัยนี้สามารถพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีระบบสังคมได้ หุ่นยนต์ที่มีระบบสังคมนี้ จะสามารถทำงานรวมกลุ่ม ทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่ รวมไปถึงอาจจะพัฒนาโครงสร้างทางสังคมเฉกเช่นสัตว์บางชนิด เช่น มด และ ผึ้ง ซึ่งจะทำให้มันสามารถทำงานที่มีความซับซ้อนได้

จากการเชื่อมโยงแนวทางการวิจัยทั้ง 3 แนวทางเข้าด้วยกัน ทำให้กลุ่มวิจัยนี้ มีความล้ำหน้าที่สุดแล้วครับในเรื่องของ MAV ที่ทำงานเป็นฝูง โดยพวกมันสามารถทำงานแบบไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม โดยคณะวิจัยได้ทดสอบการทำงานของฝูงที่มีจำนวน 10 ลำ ในการบินค้นหาวัตถุ โดย MAV แต่ละลำจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายบนท้องฟ้า แล้วส่งข้อมูลกลับเข้ามาที่สถานีฐานได้ การส่งข้อมูลโยนกันไปมาระหว่าง MAV ในฝูงบิน นี่เอง ทำให้การส่งข้อมูลสามารถกระทำในระยะไกลกว่าหากมี MAV เพียงแค่ลำเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น