27 กุมภาพันธ์ 2553

The Mathematics of Beautiful Girls- คณิตศาสตร์ของคนสวย (ตอนที่ 4)


ผมมีคนใกล้ๆตัวหลายคนที่เป็นโสด ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนอธิบายว่า เหตุใดผู้หญิงสวยมากๆ ถึงไม่มีคู่ ซึ่งสรุปความได้ว่า ความสวยของผู้หญิงนั่นแหล่ะที่เป็นตัวผลักให้ผู้ชายออกไปอยู่ห่างๆ เธอ ต่อจากนั้นมา ผมก็ได้รับคำถามมาอีกว่า อ้าว ... แล้วถ้าผู้หญิงที่ไม่ได้สวยขนาดนางฟ้า ก็ไม่ได้จะมีสมการที่ทำให้ผลักผู้ชายออกไปจากชีวิตเธอ แต่เหตุไฉน ผู้หญิงที่หน้าตาปานกลาง น่ารัก หรือ บ้านๆ ยังหาแฟนไม่ได้ .... อืม .... อย่างนี้คณิตศาสตร์คงอธิบายไม่ได้แล้วครับ แต่ผมมีคำอธิบายจากชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการครับ (Evolutionary Biology)

วันนี้ผมนั่งสแกน journal เล่นๆ ก็ไปเจอบทความหนึ่งครับ ตีพิมพ์ในวารสาร Animal Behaviour ฉบับเดือนมีนาคม 2010 นี้ (รายละเอียดเต็มคือ Jonathan P. Drur, "Immunity and mate choice: a new outlook", Animal Behaviour 79 (2010), pp. 539-545) ซึ่งเป็นรายงานเชิงปริทรรศน์ที่น่าสนใจมากครับ เขาบอกว่า การที่คนเราเลือกคู่กันนั้น ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ เรื่องของระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายของเราถูกโปรแกรมมาให้หาคู่ครองที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมโรคต่างๆ โดยเราจะเลือกหาคู่ที่มีภูมิต้านทานในสิ่งที่เราไม่มี ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ลูกหลานของเรา จะได้พันธุกรรมที่มีภูมิต้านทานโรคครอบคลุมโรคต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คู่ครองที่เหมาะสมของเราที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ทดแทนของเรา คือใคร นักวิทยาศาสตร์บอกว่า เราจะรู้ด้วยการมองและการได้กลิ่น แต่ปัจจัยเรื่องรูปร่างหน้าตาที่เก็บข้อมูลระบบภูมิคุ้มกันนั้น ยังเป็นปริศนาอยู่ครับว่าทำงานอย่างไร แต่เรื่องของกลิ่นนี่ เราพอมีความรู้บ้างแล้วว่า ข้อมูลเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของเรา มันถูกปล่อยออกมากับเหงื่อครับ ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายได้กลิ่น

รายงานวิจัยอีกฉบับในวารสารเดียวกัน จากนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเวสเทอร์นออสเตรเลีย ได้ระบุว่าผู้หญิงที่ครอบครองยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอย่างหลากหลาย จะมีโอกาสหาสามีได้ง่ายกว่าผู้หญิงที่มีชุดของยีนแคบๆ จากการศึกษานิสิตจำนวน 150 คน โดยให้นิสิตหญิงเหล่านั้นตอบคำถามต่างๆ แล้วนำไปวิเคราะห์ร่วมกับ DNA ของพวกเธอ ทำให้ทราบว่า คนที่มียีนของระบบภูมิคุ้มกันหลากหลายกว่า ไม่ค่อยมีประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วยเท่าไหร่ ซึ่งเธอเหล่านั้น ก็มักจะมีประวัติว่ามีแฟนให้เลือกอยู่เรื่อยๆ หัวกระไดห้องแล็ปไม่เคยแห้ง แตกต่างจากนิสิตหญิงที่มีชุดของยีนแคบๆ มักจะครองความเป็นโสดอยู่เสมอ

สรุปก็คือ ชุดยีนของระบบภูมิคุ้มกันโรคนี่เอง คือ "แรงแห่งรัก" ที่ผลักดันให้เราถวิลหาคู่ครองที่จะมาช่วยเติมเต็มชุดยีนที่เรามีอยู่โดยไม่รู้ตัว ....

(รูปด้านบน - ผู้หญิงอ้วนทางขวามือของรูป คงจะมียีน MHC ที่หลากหลายกว่าผู้หญิงสวยทางซ้ายมือ ชายหนุ่มผู้นี้ถึงได้สิเน่หาเธอมากกว่า ด้วยหวังว่า ชุดยีนของหญิงคนนี้ จะมาช่วยเติมอีกส่วนที่ขาดหายไปจาก DNA ของเขา ....)

1 ความคิดเห็น: