27 กรกฎาคม 2551

จับตาดู Precision Agriculture ที่อินเดีย


นขณะที่ประเทศไทยกำลังเกาะกระแสเกษตรอินทรีย์อย่างเอาจริงเอาจัง ประเทศอินเดียซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นคู่แข่งทางด้านเกษตรของไทยในอนาคต กำลังจะกระโดดไปสู่การเกษตรของศตวรรษที่ 21 นั่นคือ เกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า พืชพันธุ์ที่ปลูก และ สภาพล้อมรอบ (ดิน น้ำ แสง อากาศ) ในไร่นา มีความแตกต่างกัน ในแต่ละบริเวณ แม้จะอยู่ในไร่เดียวกันก็ตาม สภาพล้อมรอบที่แตกต่างนี้ มีผลให้การเกิดผลผลิต แตกต่างกันได้ ดังนั้นการปรับการดูแลให้เหมาะสมกับ สภาพที่แตกต่างนั้น จะทำให้สามารถสร้างผลผลิต อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เกษตรแม่นยำสูงจึงเป็นกลยุทธ์ในการทำการเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรสามารถจะปรับการใช้ทรัพยากร ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ย่อยๆ รวมไปถึงการดูแล อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น การหว่านเมล็ดพืช การให้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การไถพรวนดิน การรดน้ำ การคัดเลือกผลผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิต


อินเดียเป็นประเทศแรกในเอเชียที่บรรจุ Precision Agriculture ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งก็มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าจะทำได้จริงหรือ เพราะไร่นาในอินเดียค่อนข้างมีขนาดเล็ก อีกทั้ง 30% ของประชากรอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน แต่ว่าในขณะนี้ได้มีนักวิจัยจำนวนมาก สนใจเข้ามาทำงานด้านนี้มากขึ้น จนมีการเสนอให้อินเดียทำการติดตั้ง Differential GPS หรือ DGPS ให้ครอบคลุมทั้งประเทศอินเดีย ซึ่งจะช่วยให้ความแม่นยำของระบบ GPS ในอินเดียมีเพียงพอที่จะใช้ทำกิจกรรมต่างๆในไร่ โดยการใช้รถอัตโนมัติ เช่น การพรวนดิน การหว่านเมล็ด การหยอดปุ๋ย เป็นต้น อุตสาหกรรมเกษตรอันหนึ่งที่น่าจับตามองของเขาก็คือ ชา ปัจจุบันอินเดียปลูกชาได้ถึง 850 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 30% ของทั้งโลก แต่ในช่วงหลังๆ นี้การแข่งขันในตลาดชาจาก เคนยา ศรีลังกา และ อินโดนีเซีย สูงมาก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลอินเดียมีความตื่นตัวที่จะนำ Precision Farming เข้ามาใช้ในเรื่องของชา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชาของอินเดียให้นำหน้าคู่แข่ง ....... วันหลังผมจะมาเล่าต่อนะครับ .................