07 ธันวาคม 2552

Smart Aquaculture - ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)


สวัสดีครับ วันนี้ยังคงเป็นวันหยุดยาวที่แสนสบาย ในช่วงสัปดาห์หน้าผมจะออกภาคสนามที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องราวหนึ่ง ที่ผมไม่เคยเขียนมาก่อน นั่นคือการนำเอาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งแบบที่เป็นระบบเปิดในทะเลลึกและใกล้ชายฝั่ง หรือเป็นระบบปิดบนฝั่ง ซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ ทางด้านการประมงแห่งศตวรรษที่ 21 ผมจะทยอยนำเอาแนวคิด รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในธุรกิจทางด้านนี้ มาเล่าให้ฟังครับ

บริษัท Open Blue Sea Farms แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทหนึ่งที่วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาในทะเลลึก โดยใช้คอกเพาะเลี้ยงที่ทำให้สภาพแวดล้อมของปลาที่อาศัยอยู่ในนั้น ไม่ต่างจากสภาวะในทะเลจริง ปลาจะผสมพันธุ์และเจริญเติบโตเหมือนในธรรมชาติ บริษัทนี้ก่อตั้งโดยเด็กอายุ 17 ปี ซึ่งเขาเริ่มต้นด้วยการขับเรือออกไปในทะเล 80 กิโลเมตร เพื่อไปจับปลาเป็นๆ มาหัดเพาะเลี้ยงในแท็งค์น้ำใหญ่ที่บ้าน จนเขาเรียนรู้ที่จะเพาะเลี้ยงปลาทะเลสำหรับรับประทาน ให้สามารถเติบโตในสภาวะแท็งค์น้ำได้ ปัจจุบัน ไบรอัน โอฮันลอน (Brian O'Hanlon) มีอายุ 29 ปี และเขามีแผนการใหญ่ที่จะเพาะเลี้ยงปลาในกระชังใต้ทะเลลึกลงไปเกือบ 80 เมตร โดยใช้กรงที่มีลักษณะเหมือนบอลลูน สิ่งประดิษฐ์นี้มีชื่อว่า Aquapod มันทำจากวัสดุที่เหนียวและทน ซึ่งฟาร์มใต้ทะเลของเขาเคยผ่านประสบการณ์จากพายุเฮอริเคนมาแล้ว โดยไม่เป็นอะไรเลย Aquapod นี้มีระบบการให้อาหารด้วยการเป่าเม็ดอาหารปลาให้กระจายตัว มีการติดกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามความเป็นไปของปลา เพื่อลดการเสี่ยงภัยในการลงไปเก็บข้อมูลด้วยนักประดาน้ำ

การเพาะเลี้ยงปลาในทะเลเปิดแบบนี้ ดีกว่าการเพาะเลี้ยงบนบกอย่างที่บริษัทซีพีของเราชอบทำครับ เพราะการประมงแบบนั้น ทำลายสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลน แถมยังมีการใช้สารเคมีมากมายเพื่อต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ